สุโขทัย - นักท่องเที่ยวทั้งไทย-เทศแห่จองโรงแรม-รีสอร์ตสุโขทัยล่วงหน้า รอเที่ยวงาน “ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัย” จนเกือบเต็มแทบทุกแห่งแล้ว ททท.คาดปีนี้คนเที่ยวเกิน 4 แสนคน เงินสะพัดมากกว่าปีก่อน 13.98% ย้ำใครมาเที่ยวไม่ควรพลาด 6 กิจกรรมสุดประทับใจ
วันนี้ (12 พ.ย.) นางพัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย เปิดเผยว่า งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 พฤศจิกายน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาเที่ยวชมงานไม่น้อยกว่า 400,000 คน ทำให้เงินสะพัด 364 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 13.98% และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวลอยกระทงสุโขทัยของ ททท.ที่ผ่านมานั้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากอเมริกา สวีเดน มอสโก รัสเซีย และจีน สนใจมาเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ส่วนสถานที่พักต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ ต.เมืองเก่า อ.เมือง ซึ่งอยู่ใกล้สถานที่จัดงานลอยกระทง ปัจจุบันมียอดจองห้องพักค่อนข้างแน่น หรือประมาณ 90% มากกว่าปีที่แล้ว 10% ซึ่งนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางมาเที่ยวติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานสุโขทัย โทรศัพท์ 0-5561-6228, 0-5561-6229
ผอ.ททท.สำนักงานสุโขทัยได้กล่าวแนะนำว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงานลอยกระทงสุโขทัยไม่ควรพลาดทำ 6 กิจกรรม คือ 1.) ตักบาตรรับรุ่งอรุณแห่งความสุขเพื่อสิริมงคลแก่ชีวิต ระหว่างวันที่ 21-25 พ.ย. เวลา 06.00 น. ที่พระอุโบสถวัดตระพังเงิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2.) ลอยกระทง สำนึกพระคุณและขอขมาแม่พระคงคา ที่สระน้ำตระพังตระกวน 3.) เผาเทียน จุดตะคันแล้วนำไปวางตามฐาน หรือระเบียงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ เพื่อเป็นพุทธบูชา และกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
4.) ชมการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียงโบราณ 5.) ชมการแสดงแสงสีเสียง Light & Sound เรื่อง “ความรุ่งเรืองของนครสุโขทัย” และ 6.) เที่ยวตลาดแลกเบี้ยเมืองสุโขทัย เป็นกิจกรรมที่ ททท.ได้จำลองรูปแบบตลาดโบราณ (ตลาดปสาน) สมัยสุโขทัยในอดีต จำหน่ายอาหารคาวหวานโบราณที่หารับประทานได้ยาก เช่น ขนมกง ชะมดงาดำ ข้าวเกรียบโป่ง ปลาเห็ดโบราณ ผัดไทยใบตอง ข้าวเปิ๊บ และก๋วยเตี๋ยวแบ พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมนาฏศิลป์ และการแสดงร่วมสมัย ทุกคืน ตั้งแต่เวลา 16.00-23.00 น.
ด้านนายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า งานลอยกระทงสุโขทัยนอกจากจะมีกิจกรรมคงความเป็นเอกลักษณ์ เช่น พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข พิธีบวงสรวงบุรพกษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ การประกวดกระทงเล็ก พนมหมาก พนมดอกไม้ โคมชัก โคมแขวน กิจกรรมข้าวขวัญวันเล่นไฟ การประกวดนางนพมาศ และการแสดงประกอบแสงสีเสียงเรื่อง “ความรุ่งเรืองของนครสุโขทัย” ฯลฯ แล้ว
ในปีนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษ คือ การแห่กระทงอาเซียน 10 ประเทศมาร่วมจัดแสดง และการจุดพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ที่สวยงามตระการตาอีกไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง และที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวสุโขทัย คือ การได้รับพระราชทานกระทงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ลงลอยเป็นปฐมฤกษ์ในวันลอยกระทงด้วย
ทั้งนี้ ประเพณีลอยกระทงไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าสืบทอดกันมายาวนาน โดยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียง” หรือการลอยพระประทีป ซึ่งตอนหนึ่งของหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ พระสนมเอกของพระร่วงเจ้า ความว่า
“พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอย บรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนลอย ทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้น สามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้น ต่างทำโคมประเทียบบริวารวิจิตร ด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปสัณฐานต่างๆ ประกวดกันมาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบราบ ตามแนวโคมชัยเสาระหง ตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการ พระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์”
“โคมชัก โคมแขวน” หมายถึงเครื่องครอบหรือเครื่องบังลมไม่ให้ไฟดับ และใช้ผูกกับยอดเสาหรือที่สูง เคลื่อนไหวตามแรงลมได้ ประดิษฐ์เพื่อเป็นพุทธบูชา ส่วนพิธีเผาเทียน หรือการจุดถ้วยเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะใช้ “ตะคัน” หรือถ้วยเทียนบูชา ที่เป็นภาชนะดินเผาบรรจุขี้ผึ้งไขเปรียง มีไส้เชื้อเพลิง จุดแล้วมีแสงสว่าง คนโบราณจึงเรียกว่า “เผาเทียน” เมื่อนำไปวางตามฐาน หรือระเบียงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ เกิดเป็นแสงระยิบระยับนับร้อยนับพัน ถือเป็นบุญกุศลที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมศรัทธา
ดังนั้น ในงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย จึงมีการจัดทำโคมชักโคมแขวนประดับตกแต่งอย่างงดงาม พร้อมกับมีพิธีเผาเทียน ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และบวงสรวงพ่อขุนรามฯ ตามแต่ครั้งโบราณสืบมา