xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านปากมูลจัดรวมพลคนรักษ์ปลา ฟื้นฟูลุ่มน้ำมูล 8 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี จัดรวมพลคนรักษ์ปลา รักษ์แม่มูล ครั้งที่ 2 เพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม เพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำมูล โดยชุมชนจัดการตนเอง ไม่รอพึ่งภาครัฐฝ่ายเดียว ขณะข้อเรียกร้องของชาวบ้านเริ่มใกล้ความจริง เตรียมตั้ง กก.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเมื่อ 26 ปีก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านดอนสำราญ ต.กุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน และชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำมูล ทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยา และพันธุ์สัตว์น้ำที่เหลือน้อยในปัจจุบันให้มีมากขึ้น

พร้อมลงเรือโปรยดอกไม้บริเวณวังปลาบึก บ้านคันไร่ ต.คันไร่ อ.สิรินธร ที่กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ฟื้นฟูปลาบึก ซึ่งอยู่ในกลุ่มปลาหนังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำโขง และน้ำมูล ที่เริ่มหายากให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

เนื่องจากหลังการก่อสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อ 26 ปีก่อน ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ได้ปิดกั้นทางเดินของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์น้ำไม่สามารถว่ายเข้ามาผสมพันธุ์ตามเกาะแก่งต่างๆ ที่เป็นวังปลาในแม่น้ำมูล จนปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก กระทบต่อชาวบ้านจำนวนหลายพันครอบครัวที่ประกอบอาชีพประมงริมแม่น้ำ

ต่อมา เมื่อปี 2543 ชาวบ้านที่รวมตัวเป็นกลุ่มสมัชชาคนจน ได้บุกยึดเขื่อนปากมูลเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน เรียกร้องให้มีการเปิดประตูระบายน้ำคืนธรรมชาติให้ลุ่มแม่น้ำมูล กระทั่งรัฐบาลในยุคนั้นยอมเปิดประตูระบายน้ำปีละ 4 เดือนในช่วงฤดูวางไข่ เพื่อให้พ่อแม่ปลา และสัตว์น้ำ จากแม่น้ำโขงว่ายขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่ที่เป็นวังปลาในเขต อ.โขงเจียม สิรินธร และพิบูลมังสาหาร

แต่จนถึงปัจจุบัน สภาพลำน้ำของแม่น้ำมูล ยังไม่กลับมาสมบูรณ์เหมือนอดีต ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดงานรวมพลคนรักษ์ปลา รักษ์แม่มูล ครั้งที่ 2 เพื่อให้คนในชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูล เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์ปลา และสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และให้สังคมเห็นถึงศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการ การอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นโดยชุมชนด้วยกันเอง

สำหรับการจัดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำครั้งนี้ ดำเนินการพร้อมกัน จำนวน 8 จุด เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ตามความยาวของแม่น้ำมูล ถึงปากแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม

ด้านข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล ล่าสุด คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล จะเรียกประชุม ครั้งที่ 5/2558 ในวันที่ 16 พ.ย. เพื่อกำหนดกรอบการตั้งคณะอนุกรรมการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียอาชีพประมงจำนวนกว่า 6,000 ครอบครัว ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย โขงเจียม สิรินธร และพิบูลมังสาหาร รายละ 310,000 บาท

รวมทั้งจะหารือเรื่องการทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 5 ปี เพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำมูล ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจนต่อไปด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น