ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดชลบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี และสำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี จัดงานชลบุรีแฟร์ Chonburi Fair ระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2558 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมกิจการวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้
วันนี้ (3 พ.ย.) นายเรวัต ผลลูกอินทร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นประธานแถลงข่าวชลบุรีแฟร์ ณ ห้องแก้วเจ้าจอม ชั้น 2 องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี โดยจังหวัดชลบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี และสำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี จัดงานชลบุรีแฟร์ Chonburi Fair ระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2558 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจการวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ เทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตร และสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรีอีกด้วย
นายเรวัต ผลลูกอินทร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดชลบุรี เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคตะวันออก มีความโดดเด่น และครบครันในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเกษตร การกีฬา อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการเกษตร และโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ซึ่งอุตสาหกรรม และธุรกิจที่กล่าวมานั้นมีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น ประกอบกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community ที่กำลังจะมาถึง ดังนั้น จังหวัดจึงมุ่งเน้นการพัฒนา และการส่งเสริมศักยภาพการผลิต การจัดการตลอดจนการตลาดแก่ทุกภาคส่วน จังหวัดชลบุรี นับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่การเกษตร และเกษตรกรจำนวนมาก ธุรกิจด้านการเกษตรนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของธุรกิจต่างๆ ด้วย
สำหรับจังหวัดชลบุรี มีการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน จำนวน 504 กลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มอาชีพด้านพืช กลุ่มอาชีพด้านประมง และกลุ่มอาชีพด้านปศุสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ซึ่งมีการผลิตสินค้า และการให้บริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรและการตลาด การจัดงานชลบุรีแฟร์ในวันนี้เพื่อให้ชาวจังหวัดชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียงรู้จักผลิตภัณฑ์ของดีเมืองชล และสนับสนุนสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรีให้มีเงินหมุนเวียน และเป็นจุดมุ่งหมายให้เกษตรกรมีรายได้ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เทคโนโลยีการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร การค้าและการท่องเที่ยว เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายสามารถ ชื่อวงศา เกษตรจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การจัดงานชลบุรีแฟร์ เกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ได้แก่ จังหวัดชลบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี สำนักงานประมงจังหวัดชลบุรี และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี โดยใช้สถานที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี เป็นที่แสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีเมืองชลจากลกุ่มแม่บ้านเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ กว่า 200 ร้านค้า ให้แก่ประชาชนที่มาเที่ยวงานได้เลือกซื้อสินค้าของดีเมืองชล ตลอด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2558
การจัดงานชลบุรีแฟร์ในครั้งนี้มีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ จัดเวทีกลางแสดงนิทรรศการผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ การอบรมให้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ การจัดอกไม้ในภาชนะ การขยายพันธุ์พืช การประดิษฐ์กระทงจากใบตอง การแปรรูปปลา การป้องกันโรคสัตว์ปีก การประกวดแข่งขันและสาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน และขนมไทยของจังหวัดชลบุรี
เช่น ห่อหมกปลาอินทรีย์ ต้มยำไก่บ้าน ข้ามันส้มตำ น้ำพริกกะปิปลาทู ขนมจีนน้ำยากะทิ ข้าวหลาม ข้าวหลามซ็อต ขนมเทียนแก้ว ถั่วดำต้มกะทิ ขนมขี้หนู ข้าวต้มมัด เป็นต้น การประกวดการเกษตร เช่น การประกวดการปลูกพืชผักสวนครัว 3 ชนิดในภาชนะ การประกวดผลไม้ ได้แก่ สับปะรดปัตตาเวีย มะละกอฮอลแลนด์ มะพร้าวอ่อน ฝรั่ง และขนุน การประกวด Succulent (ไม้อวบน้ำ และเคสตัส 10 ประเภท) การประกวดไม้ตัดดอก 6 ประเภท การประกวดปลาสวยงาม ได้แก่ ปลากัดหม้อ ปลากัดแฟนซี และปลาหางนกยูง และจัดบูทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีเมืองชลให้แก่สมาชิกกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจังหวัดชลบุรี
นอกจากนี้ การจัดงานชลบุรีแฟร์ ยังเป็นการเชื่อมโยงให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในจังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งผลดีต่อการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้นต่อไป