xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์ชาวบ้านพลิกตำราโบราณ ฟื้นเส้นทางเสด็จ “โซกพระร่วงลองพระขรรค์” ต้นน้ำกรุงสุโขทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - ชาวบ้านเมืองเก่า จับมือนักโบราณคดี ฟื้นฟูเส้นทางเสด็จ “โซกพระร่วงลองพระขรรค์” แหล่งต้นน้ำโบราณของกรุงสุโขทัย ในป่าดิบแล้งเขตอุทยานแห่งชาติฯ ชี้เป็นสถานที่อ้างอิงในโบราณคดีเรื่อง “พระร่วง” ชัดเจน มีต้นไม้ในตำนานเหลืออยู่ แต่แพร่พันธุ์น้อยมาก วอน นทท.ร่วมอนุรักษ์

วันนี้ (31 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ได้นำคณะนักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 6 และสื่อมวลชน เดินเท้าเข้าป่าสำรวจเส้นทางโซกพระร่วงลองพระขรรค์ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นป่าดิบแล้งในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแแหง สุโขทัย เส้นทางค่อนข้างราบลัดเลาะไปตามลำธารเสาหอระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้า 20 นาที ก็ถึงบริเวณช่องภูเขาขาด หรือโซกพระร่วงลองพระขรรค์ สถานที่อ้างอิงในนิทานโบราณคดีเรื่อง “พระร่วง”

นายปฏิรูป สายสินธุ์ ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า นิทานโบราณคดีเรื่อง “พระร่วง” นั้นผูกพันกับวิถีชีวิตชาวสุโขทัยมาช้านาน และสถานที่อ้างถึงก็มีจริง โดยในบันทึกจดหมายเหตุของพระยารณชัยชาญยุทธ อดีตเจ้าเมืองสุโขทัย ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเสด็จโซกชมพู่ และเคยมีรับสั่งให้ตักน้ำจากโซกชมพู่ไปถวาย

นอกจากนี้ ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2507 ก็มีการเตรียมรับเสด็จยังโซกพระร่วงด้วย และเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จยังโซกพระร่วงในการศึกษาต้นน้ำลำธาร และระบบชลประทานโบราณเมืองสุโขทัย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง

นายณรงค์ชัย โตอินทร์ อีกหนึ่งในปราชญ์ชาวบ้าน ได้เล่าถึงนิทานพระร่วงให้ฟังว่า วันหนึ่งพระร่วงเจ้าออกเสด็จประพาสป่าเพื่อทอดพระเนตรต้นน้ำ พบแอ่งน้ำขนาดใหญ่มีภูเขากั้นขวางอยู่ และเห็นว่าน้ำนี้มีคุณประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ จึงอธิษฐานว่า “ด้วยบุญญาธิการ ด้วยมีวาจาสิทธิ์แห่งกู ที่ปกครองเมืองสุโขทัย กูจะลองดาบที่ลับมาว่าคมหรือไม่” แล้วก็ฟันดาบลงปรากฏเป็นช่องเขาขาด

เมื่อลองดาบเสร็จแล้วด้วยความดีพระทัย จึงเสวยพระกระยาหาร เสวยปลาแกะเนื้อเหลือน้อย และเหลือแต่ก้าง ก็รับสั่งให้ว่ายน้ำไป ก็กลายเป็นปลาหมอช้างเหยียบ และปลาก้างพระร่วง ครั้นเมื่อถ่ายบังคนหนักเสร็จ ใช้ไม้ชำระแล้วขว้างไปก็เกิดเป็นต้นไม้ใบมีกลิ่น หรือต้นแก้งขี้พระร่วง

นายธีรศักดิ์ ธนูศิลป์ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 กล่าวว่า โซกพระร่วงลองพระขรรค์ มีความสำคัญ และเป็นแหล่งต้นน้ำมาแต่โบราณ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ความว่า “เบื้องหัวนอน (ทิศใต้) เมืองสุโขทัยนี้มีกุฎีพิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าวป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย”

ตามรากฐานภาษาโบราณแล้ว “สรีดภงส์” แปลว่า ทำนบ มีรากฐานมาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งเมืองเก่าสุโขทัยมีระบบชลประทานโบราณ มีลำธารหลายสายไหลลงเขื่อนสรีดภงส์ รวมทั้งมีระบบส่งน้ำโดยคูคลอง และท่อน้ำโบราณ ส่งไปใช้ยังเมืองสุโขทัยด้วย

นายสุพจน์ นาครินทร์ ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวเสริมว่า สำหรับต้นไม้ที่มีกล่าวถึงในเอกสารโบราณ ตามเส้นทางนี้มีการสำรวจพบต้นชมพู่ป่าขนาดเล็ก 1 ต้น ส่วนต้นแก้งขี้พระร่วงนั้นพบ 2 ต้น ซึ่งนับว่าหายากมาก ไม่มีลูกไม้เกิดใหม่เลย จึงได้นำก้อนหินมาล้อมไว้ และฝากถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาขอให้ช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ดูต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น