xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.สุโขทัยชวนเที่ยวตามรอยเสด็จพ่อหลวงสู่ดินแดนโซกพระร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - อบจ.สุโขทัยร่วมกับเครือข่ายผู้ใช้น้ำทุ่งทะเลหลวงและปราชญ์ชาวบ้าน ชวนเที่ยวตามรอยเสด็จของพ่อหลวง โดยเฉพาะเส้นทางเสด็จปี 2507 ทอดพระเนตรแหล่งต้นน้ำโซกพระร่วงลองพระขรรค์

รายงานข่าวจากจังหวัดสุโขทัยแจ้งว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุโขทัย และเครือข่ายผู้ใช้น้ำทุ่งทะเลหลวงร่วมกันจัดโครงการ อบจ.ชวนเที่ยว “เมืองสุโขทัย ใต้ร่มพระบารมี” ตามรอยพระยุคลบาทพ่อหลวง สู่ดินแดนโซกพระร่วง เมืองเก่าสุโขทัย เพื่อเทิดพระเกียรติในปีมหามงคล และตามรอยพระยุคลบาทที่เสด็จฯ เยือน จ.สุโขทัย ถึง 7 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ได้เสด็จฯ ณ โซกพระร่วง

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ นายก อบจ.สุโขทัย กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรชาวสุโขทัย อบจ.จึงร่วมกับหลายภาคส่วนน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำ “แก้มลิง” มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำโครงการทุ่งทะเลหลวง ซึ่งได้ผลดีมีเกษตรกรได้ประโยชน์จำนวนมาก

ในครั้งนี้เครือข่ายผู้ใช้น้ำทุ่งทะเลหลวงจึงร่วมกันเดินตามรอยพระยุคลบาทพ่อหลวง ซึ่งเคยเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรแหล่งต้นน้ำโซกพระร่วงลองพระขรรค์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2507 เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

นายปฏิรูป สายสินธุ์ และนายณรงค์ชัย โตอินทร์ ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นวิทยากรให้ความรู้ในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า เมืองสุโขทัยโบราณมีผืนป่าไม้สักคุณภาพดีระดับโลก ก่อเกิดลำธารถึง 17 สายไหลลงสู่ทำนบโบราณ (สรีดภงส์) บนพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำที่ดีของบรรพชนสุโขทัย มีการส่งน้ำด้วยท่อที่พอดีไปยังคูคลองเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในสระตระพังต่างๆ ดังที่พบท่อน้ำโบราณที่วัดมหาธาตุ และวัดเชตุพน เป็นต้น
และหากปริมาณน้ำมากเกินพอดีก็จะมีการสร้างคันบังคับน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้ไหลออกไปในทิศทางที่ต้องการได้ เช่น คันบังคับน้ำตระพังช้างเผือก ด้านทิศตะวันตกของเมือง และคันทำนบหมายเลข 33 นั้นมีขนาดใหญ่โตหลายร้อยไร่

ส่วนทางด้านตะวันออกของเมือง ที่วัดเจดีย์สี่ห้องมีศิลปกรรมลายปูนปั้นหม้อ “ปูรณฆฏะ” สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ หม้อปูรณฆฏะนี้สุโขทัยรับเอาคติมาจากศรีลังกาโดยตรง และมีแห่งเดียวในสุโขทัย สังเกตได้ที่มนุษย์นาคที่เป็นรูปแบบของศรีลังกาอย่างเต็มเปี่ยม

สำหรับดอกบัวมีสายนั้นได้แก่บัวเผื่อนท้องถิ่นสุโขทัยเอง และลวดลายดอกเครือวรรณพันธุ์ผักบุ้ง ดอกบัว และต้นสันตวา บนชามสังคโลกจำนวนมาก อีกทั้งในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังพบคำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว แสดงถึงมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากมายที่เมืองสุโขทัยโบราณ

ทั้งนี้ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความสอดคล้องกับภูมิปัญญาโบราณแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เป็นสิ่งที่สมควรศึกษา ยกย่องเชิดชู และสมควรที่จะเดินตามรอย โดยน้อมนำหลักบริหารจัดการน้ำมาใช้เพื่อความยั่งยืนต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น