ศูนย์ข่าวศรีราชา - ทม.แสนสุข ระดมความคิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางป้องกันปัญหาน้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณชายหาดบางแสน โดยต้องรู้สถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อวางแนวทางป้องกันไม่ให้สร้างปัญหา และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อชาวประมง และแหล่งท่องเที่ยว
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์บริการสาธารณสุข ชั้น 3 เทศบาลเมืองแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี นายสวัสดิ์ หอมปลื้ม รองนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติต่อภาวะน้ำทะเลเปลี่ยนสี (แพลงก์ตอนบลูม) บริเวณหาดบางแสน โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก สถานีวิจัยประมงศรีราชา ม.เกษตรศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา ผู้ประกอบการชายหาด และชาวประมง
นายสวัสดิ์ หอมปลื้ม รองนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าวว่า กรณีน้ำทะเลเปลี่ยนสี (แพลงก์ตอนบลูม) ชายหาดบางแสนนั้นเกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปีนี้เกิดขึ้น 4 ครั้งแล้ว ในช่วงเดือน ก.ค. ส.ค. และ ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทางคณะผู้บริหารไม่ได้นิ่งนอนใจ พยามยามแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบ และไม่ให้สร้างความเสียหายมากขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว กระทบต่อสัตว์ทะเล และอาชีพประมงของชาวบ้าน เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยว และพักผ่อนที่ทราบข่าว ชาวประมงก็จับสัตว์น้ำได้ลดลง โดยจะทำอย่างไร เนื่องจากมีผลกระทบ และไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็สามารถรองรับสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงมาก ดังนั้น จึงต้องมาร่วมประชุมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางดังกล่าว
ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ปัญหาน้ำทะเลเปลี่ยนสีนั้นถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูที่มีฝนตกหนัก และมีแดดจัด ในช่วงเดือน ก.ค.ถึง ก.ย. ที่สำคัญในช่วงแล้งมานาน และเกิดฝนตกหนักซึ่งจะชะล้างสารอินทรีย์ที่มีแร่ธาตุอาหารลงสู่ทะเล จึงเป็นแหล่งอาหารของแพลงก์ตอน เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้น้ำทะเลขาดออกซิเจน ส่งผลให้สัตว์หน้าดินขาดออกซิเจน และตายดังกล่าว
ด้าน นายมนูญ ขำดี ชาวประมง กล่าวว่า ส่วนใหญ่น้ำทะเลเปลี่ยนสีนั้นจะเกิดขึ้นจากกลางทะเล จากนั้นก็จะพัดเข้ามาสู่ชายหาด ซึ่งชาวประมงส่วนใหญ่จะทราบปัญหาล่วงหน้า โดยหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นทางชาวประมงก็พร้อมแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชายหาด เพราะต้องใช้เวลา 1-2 วัน จะถึงชายฝั่ง
ด้านนายวีระ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มีหลายหน่วยงานได้เสนอรูปแบบ และหลายแนวทาง เช่น ปัญหาน้ำทะเลเปลี่ยนสีนั้นจะมีตัวบ่งชี้ว่าน่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และส่วนใหญ่จะเกิดจากกลางทะเล และจะถูกพัดพาเข้ามาสู่ชายหาด ดังนั้น หากได้รับแจ้ง หรือรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะพัดเข้ามาสู่ชายหาด ก็จะได้หาแนวทาง หรือวิธีป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบสัตว์ทะเลชายฝั่ง หรือชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ เหตุน้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือ แพลงก์ตอนบูม ว่าเป็นแพลงก์ตอนพืชชนิดไหน ซึ่งมีพิษหรือไม่มีพิษ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ทันท่วงที หรือ หาจุลินทรีมาป้องกันแก้ไขก่อนเข้าฝั่ง โดยรูปแบบต่างๆต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเทศบาลเมืองแสนสุข ต้องเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นโมเดลในการป้องกันผลกระทบดังกล่าวในพื้นที่อื่นๆต่อไป