xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแม่โจ้ช่วยกำจัดซากปลาตายเกลื่อนช่วงอากาศเปลี่ยน ใช้ไส้เดือนดินทำปุ๋ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - มูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ เร่งแก้ปัญหากำจัดซากปลาตายจากอากาศเปลี่ยนแปลงนับหมื่นตัวที่ดอยสะเก็ด โดยใช้ไส้เดือนดิน และทำปุ๋ยปลา

จากการที่จังหวัดเชียงใหม่มีอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากร่องความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่มาปกคลุม ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างกะทันหัน ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเด็ด จ.เชียงใหม่ ตายทั้งบ่อนับหมื่นตัว หรือประมาณ 3,000 กก. เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 58 ที่ผ่านมา และขณะนี้เริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น เนื่องจากไม่สามารถกำจัดได้ทัน ล่าสุด รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยมูลนิธิโครงการหลวง โดยกองทุนปุ๋ยอินทรีย์และไฮโดรโพนิคส์ได้เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการช่วยเหลือแล้ว

ทั้งนี้ รศ.ดร.อานัฐกล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือในการกำจัดปลาตายที่มีจำนวนมากกว่า 3,000 กก.นั้น อันดับแรกจะต้องมีการขนย้ายซากปลาที่กำลังส่งกลิ่นเหม็นออกจากพื้นที่ก่อน โดยจะนำไปไว้ที่โรงงานของกองทุนปุ๋ยอินทรีย์และไฮโดรโพนิคส์ในพื้นที่ของศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำหมักที่เกิดจากการหมักกับกากน้ำตาลในอัตราส่วนที่เหมาะสม และใช้เวลาประมาณ 21 วัน ทำในถังหมักขนาดใหญ่ ซึ่งก็จะได้ปุ๋ยจากการหมักเป็นปุ๋ยปลาและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ส่วนที่เหลือของปลาส่วนหนึ่งนั้น รศ.ดร.อานัฐกล่าวว่าจะนำไปทดสอบการกินของไส้เดือนดินในบ่อไส้เดือนดินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พื้นที่ 907 ไร่ ที่ฟาร์มของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบางส่วนก็จะนำไปทดสอบกับหนอนเทวดา ซึ่งเป็นหนอนชนิดใหม่ที่พบในสิ่งแวดล้อมทั่วไปในประเทศไทย โดยหนอนชนิดนี้มีอัตราการกินเร็วกว่าไส้เดือนดินถึง 5 เท่า เพียงแต่หนอนดังกล่าวไม่ได้ให้ผลผลิตเป็นปุ๋ยเหมือนไส้เดือนดิน แต่หนอนชนิดนี้จะถูกนำไปทำอาหารสัตว์ และเมื่อนำซากปลาไปให้หนอนชนิดนี้กินจะทำให้หนอนมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีน้ำหนักดีและใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดีขึ้น

โดยในการกำจัดซากปลาในครั้งนี้ใช้งบประมาณ 30,000 บาท ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 30 วัน จะได้ปุ๋ยปลาประมาณ 60,000 ลิตร และสามารถช่วยกำจัดซากปลากว่า 3,000 กิโลกรัมได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อานัฐให้คำแนะนำเกษตรกรในการเลือกพันธุ์ปลาที่จะเลี้ยงว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาควรหาปลาที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมากกว่าปลาทับทิมที่เป็นปลาลูกผสมมาเลี้ยง เช่น ปลาช่อน และปลาดุก ซึ่งปลาเหล่านี้จะเป็นปลาที่ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดีกว่า





กำลังโหลดความคิดเห็น