นครปฐม - มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โดยนักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการภาครัฐและเอกชน เปิดเวทีสัมมนาเรื่อง “การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติท่ามกลางวิกฤตการท่องเที่ยวทางทะเล” โดยนำปัญหาจากเกาะตาชัย ร่วมเปิดปัญหาที่มา และแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยผู้เกี่ยวข้อง
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 7 อาคาร 50 มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม นักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการภาครัฐและเอกเชน ได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง การฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติท่ามกลางวิกฤตการท่องเที่ยวทางทะเล โดยนำปัญหาของเกาะตาชัย ที่เกิดขึ้นมาเป็นประเด็นในการหาต้นตอของปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาสู่กระบวนการในปฏิบัติให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
โดยได้เชิญ ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อดีตผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครอง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (ตัวแทนจากภาครัฐ) คุณรัฎดา ลาภหนุน ผู้จัดการโครงการเร่ส่งเสริมความยั่งยืนระบบพื้นที่คุ้มครอง (CATSPA) สำนักโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) คุณกุลวิทย์ ลิ่มจุฬารัตน์ (นักวิชาการทางทะเล) นักวิจัย และนิสิตปริญญาเอก ภาควิชาศาสตร์ทางทะเลคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นตัวแทนในการนำข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับปัญหาทางการท่องเที่ยวด้านทะเลเข้าร่วมในการจัดเสวนาฯ
โดย ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อเยียวยาทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไปด้วยวิธีมากมาย เช่น การปิดพื้นที่เพื่อดูแลรักษาอย่างจริงจัง ทั้งฟื้นฟู รักษา และเพิ่มจำนวน โดยมีการปิดอุทยานตามฤดูมรสุม แต่ก็ยังเป็นส่วนเล็กๆ เท่านั้นเมื่อเทียบกับเหตุต่างๆ ที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรม ซึ่งในสถานการณ์การท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทยยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความสวยงามใต้ท้องทะเลอยู่มาก เป็นที่ใฝ่ฝันของนักดำน้ำทั้งชาวไทย และต่างประเทศ
ประกอบกันตลอดปีนี้มีนักท่องเที่ยวในเอเชียหลั่งไหลเข้ามา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อพื้นที่หนึ่งเกิดความเสื่อมโทรม นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อธุรกิจที่จะเกิดจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็จะพากันย้ายไปมองหาพื้นที่แห่งใหม่ที่ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลยังสมบูรณ์อยู่ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง
หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงคำนึงถึงแค่เพียงรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว แต่เรายังสามารถบริหารจัดการปัญหานี้ได้หากทางภาคเอกชน ผู้ประกอบการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรที่เป็นหนทางมาของรายได้ ให้มีความสมบูรณ์ ลดการสร้างความเสื่อมโทรมที่จะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน
ด้าน คุณรัฎดา ลาภหนุน ผู้จัดการโครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบพื้นที่คุ้มครอง (CATSPA) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การทำงานของโครงการ CATSPA นั้นมุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาครัฐ และชุมชนให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองให้ยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งในการปฏิบัติงานทางโครงการฯ ใช้แนวทางในการประสานข้อมูล และความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วลงปฏิบัติจริงต่อชุมชน
สิ่งที่พบว่า การที่เราจะสามารถอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน แท้ที่จริงแล้วเราต้องสร้างแรงบัลดาลใจให้ชุมชนในพื้นที่รู้ตระหนัก มีความสำนึกรักบ้านเกิด รักพื้นที่ รักทรัพยากรธรรมชาติที่หวงแหน ซึ่งเป็นสมบัติของชาติที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา เป็นหูเป็นตา ป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่สร้างความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยทางโครงการได้ทดลองปฏิบัติจริงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย พบว่า วิธีนี้ช่วยในชุมชนตื่นตัวในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การสรุปหัวข้อในการสัมมนา การฟื้นฟูทรัพยากรชาติท่ามกลางวิกฤตการท่องเที่ยวทางทะเล มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันมาบูรณาการแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพราะปัจจัยการเกิดวิกฤตดังกล่าวนี้มีการเชื่อมโยงกันในหลายกลุ่มของสังคม
แต่หนทางที่ง่ายที่สุด และสามารถเริ่มปฏิบัติได้เลยนั่นคือ คนไทยทุกคนต้องมองเห็นภาพที่ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิดเป็นสมบัติที่พวกเราทุกคนมีหน้าที่โดยตรงในการช่วยกันรักษาและฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดังเดิมมากที่สุด เริ่มหันมาศึกษาข้อมูลการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกต้อง คำนึงถึงการส่งสารที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อทรัพยากร
สร้างนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพื่อลดการสร้างความเสื่อมโทรมที่เกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ใส่ใจต่อความเป็นมืออาชีพในการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้ และที่สำคัญคนไทยทุกคนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในทางที่ผิด หรือเพื่อความสนุกสนานเฉพาะกลุ่มโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต