เชียงราย - ผู้ช่วย รมช.ศึกษาธิการ จี้มหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชนทั่วภาคเหนือ มุ่งผลิตคนคุณภาพ-คุณธรรม สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ย้ำ “คนร่ำรวยเป็นหมื่นล้าน ถ้าไม่มีคุณธรรมไปไม่รอด” ขณะที่ ม.ราชภัฏฯ โอดงบน้อย สวนทางจำนวนนักศึกษา
วันนี้ (10 ต.ค.) หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วย รมช.กระทรวงศึกษาธิการ น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้เดินทางไปมอบนโยบายการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาสู่มิติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพแก่ผู้บริหาร อธิการบดี และผู้อำนวยการจากมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชนทั้ง 28 แห่งทั่วภาคเหนือ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.)
โดยมีการนิมนต์พระอาจารย์ธวัชชัย ธัมมะทีโป จากศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติบ้านวังเมือง จ.พังงา เทศนาธรรมเพื่อการฝึกจิต และถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วย
หม่อมหลวงปริยดา กล่าวว่า ในระดับนโยบายนั้นทางผู้บริหารคงได้รับทราบจาก รมว.ศึกษาธิการ กันตามลำดับแล้ว สำหรับตนเมื่อได้ฟังปรัชญาแนวคิดของมหาวิทยาลัยแล้ว ก็อยากจะเติมคำว่า “มีคุณธรรม” ไปในการศึกษาด้วย เพราะที่ผ่านมา สังคมไทยมักมีเรื่องคอยจับผิดซึ่งกันและกัน ไม่มองในสิ่งที่ดีของแต่ละฝ่าย
ดังนั้น เรื่องคุณธรรมจึงถือว่ามีความสำคัญมากเพื่อให้คนลดการจับผิด และหันมามองการทำดีรวมทั้งลดการอิจฉากัน เมื่อสังคมมีคนที่มีความดี และคุณธรรมแล้วสิ่งนี้จะช่วยปกป้องสังคมเราเอง
“คนเราแม้จะมีเงินทองเป็นหมื่นล้าน ถ้าไม่มีคุณธรรมก็ไปไม่รอด”
หม่อมหลวงปริยดา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยร่วม 200 แห่ง นักศึกษากว่า 1.8 ล้านคน แต่ละปีมีคนจบการศึกษาออกมาหางานทำจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้ก็ย่อมจะมีคนเก่งมากด้วย ดังนั้น สถานประกอบการต่างๆ ก็มักจะคัดคนเก่งได้โดยง่าย และจากนั้นก็ย่อมจะคัดสรรเอาคนดีมีคุณธรรมไปทำงานด้วยเช่นกัน
ในต่างประเทศ ก็มักจะมองเรื่องการทำประโยชน์เพื่อสังคม หากผู้ที่ศึกษา หรือจบการศึกษาทำประโยชน์เพื่อสังคม ก็จะถือเป็นจุดวัดแพ้ชนะในการทำงานกันเลยทีเดียว เพราะปัจจุบันความเก่งในการศึกษาสามารถเรียนรู้ให้ทันกันได้ โดยเฉพาะการค้นหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต ทำให้เข้าถึงแหล่งความรู้ได้มากขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เรื่องคุณธรรม และกรณีการศึกษาคือ เรื่อง Social enterprise หรือการมีนวัตกรรมเพื่อสังคมนั่นเอง
“เคยมีตัวอย่างกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่นักศึกษาคิดค้นการทำนวัตกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการนำแกนหมุนเครื่องซักผ้าที่ไม่ใช้แล้ว มาทำเป็นเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า แล้วนำไปช่วยคนที่ไม่ไฟฟ้าใช้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก จึงขอฝากความหวังเอาไว้ที่มหาวิทยาลัยด้วย” หม่อมหลวงปริยดา กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ทศพล อารีนิจ อธิการบดี มรช.กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอยู่จำนวน 38 แห่งทั่วประเทศ ที่มีการรวมตัวกันค่อนข้างเหนียวแน่น แต่มักได้รับงบประมาณที่น้อยเกินกว่าขนาดที่มีอยู่ ตัวอย่าง มรช.ที่มีนักศึกษาร่วม 20,000 คน และมีหลากหลายสาขาวิชา กลับได้รับงบประมาณปีละประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งก็ใช้กันอย่างประหยัดเต็มที่ และที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้การศึกษามาได้นานร่วม 42 ปี ผลิตบัณฑิตออกสู่สังคมได้นับแสนคนจึงจะยังคงพัฒนาการกศึกษาต่อไปจึงฝากเรื่องงบประมาณให้กระทรวงฯ ได้พิจารณาด้วย