xs
xsm
sm
md
lg

ท้องถิ่นกาฬสินธุ์หารือตัวแทนเกษตรกรวางแผนรับมือเขื่อนลำปาวแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ผู้บริหาร อปท.จัดประชุมผู้นำชุมชน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และตัวแทนเกษตรกร เตรียมรับมือสถานการณ์แล้ง หลังเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2557 เชื่อหลังพายุผ่านพ้นพื้นที่เกษตรจะเข้าสู่วิกฤต

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศูนย์อินทรง บ้านนาเชือก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายทรงศักดิ์ ภูขามคม นายก อบต.นาเชือก เป็นประธานประชุมโครงการวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีนายประภาส พันธุขันธ์ ปลัด อบต.นาเชือก พร้อมข้าราชการ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และตัวแทนเกษตรกร ร่วมโครงการจำนวนมาก

นายทรงศักดิ์ ภูขามคม นายก อบต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าช่วงนี้จะมีพายุเข้ามาในประเทศไทยและทำให้ฝนตกในพื้นที่บ้าง แต่จากการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวสร้างความวิตกกังวลให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานอย่างมาก และเชื่อว่าหลังพายุออกไป จ.กาฬสินธุ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรจะเข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้สถานการณ์แล้งปีนี้มีแนวโน้มที่รุนแรงและยาวนาน

ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ที่ส่วนมากประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงกุ้งก้ามกราม และปลากระชัง ซึ่งเป็นพืชและสัตว์เศรษฐกิจหลักของ จ.กาฬสินธุ์ โดยอาศัยน้ำจากคลองชลประทานโครงการบำรุงและรักษาลำปาวเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิต

นายทรงศักดิ์กล่าวอีกว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวปีนี้น่าเป็นห่วง มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2557 โดยเขื่อนลำปาวมีปริมาณที่ 775 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 39 แต่สามารถใช้น้ำได้ประมาณ 675 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 34 ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรและชาวประมง จึงได้จัดโครงการวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีข้าราชการ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และตัวแทนเกษตรกรจากหลายตำบล เพื่อร่วมวางแผนเตรียมการรับมือภัยแล้ง

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดทำแผน ได้เน้นให้ปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ความรู้ด้านทักษะการประกอบอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ เป็ด ไก่ นกกระทา เพื่อเป็นอาหารและจำหน่าย

รวมถึงการประกอบอาชีพเกษตรที่ปลอดภัย ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งการทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ปลอดการใช้สารเคมี ปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพภัยแล้ง เพื่อลดความเสียหาย และบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น