xs
xsm
sm
md
lg

กรมศุลฯ ร่วมกับ ร.ฟ.ท.เปิดระบบตรวจตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอกซเรย์อย่างเป็นทางการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมศุลฯร่วมกับ รฟท. เปิดระบบตรวจตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอกซเรย์ อย่างเป็นทางการ
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมศุลฯ ร่วมกับ ร.ฟ.ท. เปิดใช้งานระบบตรวจตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอกซเรย์อย่างเป็นทางการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านพิธีทางศุลกากรได้สะดวก รวดเร็ว และลดปัญหาการจราจร



วันนี้ (30 ก.ย.) ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายสัมพันธ์ จารุรัตนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมกันเปิดการใช้งานระบบตรวจสอบตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอกซเรย์อย่างเป็นทางการ โดยมีเจ้าหน้าที่จากท่าเรือแหลมฉบัง ผู้ประกอบการท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้พัฒนาปรับปรุงระบบงานศุลกากรหลายด้านเพื่อก้าวสู่มาตรฐานโลก เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งการเปิดระบบตรวจตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอกซเรย์ในครั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้การผ่านพิธีการทางศุลกากรเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการ

นอกจากนั้น ยังเป็นภารกิจในการปกป้องการค้าที่สุจริต โดยให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยง และสินค้าที่สังคมไม่พึงปรารถนาไปด้วย โดยการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในการตรวจสอบตู้สินค้าที่ขนส่งทางรถไฟ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของสากล และเป็นวิธีการที่องค์กรศุลกากรโลก (WCO) แนะนำให้หน่วยงานศุลกากรทั่วโลกนำไปปฏิบัติ

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า เป็นการส่งเสริมระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทยเพื่อรองรับการเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านเข้าออกมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 20 ของโลก โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 11-13% ต่อปี และคาดว่าในปี 2559 ปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังจะเกิน 10 ล้านทีอียู และคาดการณ์ตามแผนการพัฒนาขยายท่าเรือในปี 2563 จะมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์สูงถึง 16 ล้านทีอียู และถือว่าเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองจากสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน

ที่สำคัญระบบดังกล่าวยังช่วยลดปัญหาการจราจรที่แออัด และปัญหามลภาวะที่เกิดจากการขนส่งทางถนน ซึ่งการขนส่งทางถนนเป็นการขนส่งที่สิ้นเปลืองพลังงาน และมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสังคม โดยปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งด้วยรถยนต์กับระบบรางคิดเป็น 9:1 และในอนาคตนี้ระบบรางจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถ และความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าทางบกสู่ประตูการค้าหลัก โดยการพัฒนารถไฟรางคู่บนเส้นทางขนส่งที่หนาแน่น และพัฒนาระบบการให้บริการขนส่งทางรางบริการยกตู้สินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาโดยขยายลานกองตู้สินค้าที่ขนส่งมาทางรถไฟ หรือเรียกว่า โครงการศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563

สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการขนส่ง และเครือข่ายลอจิสติกส์ในการลดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ภาคธุรกิจไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำระบบดังกล่าวมาใช้งาน
กดปุ่มเปิดระบบ การทำงานในครั้งนี้
ระบบการทำงานดังกล่าว จะควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เพื่อความปลอดภัย
การทำงานในระบบดังกล่าว จะรวดเร็วและได้มาตรฐานระดับโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น