xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้าย! กรมฝนหลวงฯ เร่งมือทำฝนเทียมก่อนสิ้นฝน แล้งหน้า “เขื่อนแควน้อย” งดจ่ายน้ำการเกษตรแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เขื่อนใหญ่ทั่วประเทศน้ำน้อย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งระดมเครื่องบิน 18 ลำขึ้นบินทำฝนหลวงช่วงโค้งสุดท้ายเติมน้ำในเขื่อนก่อนหมดฤดูฝนจริง ขณะที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำต่ำที่สุดนับแต่เริ่มกักเก็บมา คาดสิ้นฝนนี้มีน้ำเก็บแค่ 40%

นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เดินทางไปที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก เพื่อสำรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนบริเวณพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ และติดตามความคืบหน้าภารกิจแก้ปัญหาภัยแล้งของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก พร้อมร่วมหารือแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อยกว่าปกติ

นายวราวุธกล่าวว่า สถานการณ์น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของประเทศส่วนใหญ่ยังมีปริมาณกักเก็บอยู่ในระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงขานรับนโยบายของรัฐบาล ที่หวังจะเติมน้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในปีหน้า ลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแนวการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำฝนในเขื่อน

โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่รับผิดชอบการเติมน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลกรับผิดชอบการเติมน้ำให้เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งจะปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องต่อไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม หรือจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 หรือกระทั่งไม่มีความชื้นเพียงพอที่จะทำฝนได้เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านวิกฤตภัยแล้งไปให้ได้

“ช่วง 3-4 สัปดาห์นี้นับได้ว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูฝน ต้องเร่งเพิ่มมาตรการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ระดมเครื่องบินทั้งหมดจำนวน 18 ลำมาที่ศูนย์ปฏิบัติการทั้งหมด 9 ศูนย์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อเร่งเติมน้ำในเขื่อนให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะหมดฤดูฝน”

ส่วนมาตรการตามแผนพัฒนา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะมีการขยายหน่วยเพิ่มเป็น 13 หน่วย ซี่งตอนนี้ในพื้นที่ภาคเหนือมี 3 หน่วย คือ จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก และมีแผนที่จะเพิ่มที่ จ.ตาก อีก 1 หน่วยปฏิบัติการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 2 หน่วย ที่ จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา มีแผนจะเพิ่มอีก 2 หน่วย คือ จ.อุบลราชธานี และ จ.ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก มี 2 หน่วย คือ จ.ระยอง และ จ.สระแก้ว คาดว่ามีเพียงพอ และภาคกลางมีอยู่ 2 หน่วย คือ จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี คาดว่ามีเพียงพอเช่นเดียวกัน ภาคใต้ ซึ่งมีอยู่ 2 หน่วย คือที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.สุราษฎร์ธานี มีแผนจะเพิ่มอีก 1 หน่วย

และในระยะเร่งด่วน ในช่วง 3-4 สัปดาห์ช่วงโค้งสุดท้ายของหน้าฝนนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันถนอมน้ำฝน หากมีตุ่ม อ่าง บ่อให้กักเก็บน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด และทางกระทรวงฯ อาจมีการปรับเปลี่ยนพืชที่จะใช้ในการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งหน้าให้เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย รณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ระดมหน่วยงานที่มีอุปกรณ์ที่สามารถจะช่วยเหลือในเรื่องของการขุดบ่อ ลอกคลอง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนด้านกระทรวงเกษตรฯ เองก็จะเร่งนำน้ำจากท้องฟ้าลงมาในเขื่อนให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีนี้เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ ถือว่าเก็บน้ำได้ต่ำที่สุดนับแต่เริ่มกักเก็บมา เนื่องจากฝนน้อยมาก ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเท่าตัว คาดสิ้นฤดูฝนจะเก็บน้ำได้แค่ 40% จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะเก็บน้ำได้ 60% ปี 2559

นายสมหวัง ปารสุขสาร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ในฤดูปี 2558 นี้เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำกักเก็บในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อย และไม่ต่อเนื่อง น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทุกปีถึงหนึ่งเท่าตัว ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 22 กันยายน 2558 มีแค่ 277 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ล้าน ลบ.ม. ) หรือคิดเป็น 29.56% ของความจุเขื่อนที่ 939 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 234.5 ล้าน ลบ.ม. หรือ 24.9% เป็นสถานการณ์ที่เหมือนกับเขื่อนหลักในภาคเหนือทั้งเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล ที่ปีนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บได้ต่ำมาก โดยขณะนี้เขื่อนแควน้อยฯ ได้ปรับลดการระบายน้ำลงมาอีกเหลือเพียง 6 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละ 5 แสน ลบ.ม. เพื่อจะกักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด

นายสมหวังเผยต่อว่า จากการเก็บสถิติปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนแควน้อยฯ ย้อนหลังเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันจากต้นปีถึงเดือนกันยายน จะเห็นได้ชัดว่าปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแควน้อยฯ ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก มกราคม-กันยายน ปี 2552 มีน้ำไหลเข้า 827 ล้าน ลบ.ม. ปี 2553 มีน้ำไหลเข้า 938 ล้าน ลบ.ม. ปี 2554 มีน้ำไหลเข้า 2,224 ล้าน ลบ.ม. ปี 2555 มีน้ำไหลเข้า 807 ล้าน ลบ.ม. ปี 2556 มีน้ำไหลเข้า 980 ล้าน ลบ.ม. ปี 2557 มีน้ำไหลเข้า 774 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2558 มีน้ำไหลเข้า 341 ล้าน ลบ.ม.

และจากเดิมที่คาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้จะสามารถกักเก็บน้ำได้ 59% แต่คาดว่าระยะเวลาที่เหลือฝนตกอยู่แค่ 1 เดือน ปีนี้เขื่อนแควน้อยฯ คงสามารถกักเก็บน้ำได้แค่ 40% เท่านั้น

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำมาโดยตลอดเพื่อประเมินสถานการณ์และแผนบริหารการจัดการน้ำ ในส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ในปี 2559 จะงดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน 1.5 แสนไร่ อย่างแน่นอน ปริมาณน้ำที่กักเก็บอยู่ต้องบริหารจัดการน้ำร่วมกันทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน การจัดการน้ำในปีหน้า ต้องระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และเพื่อการอุปโภค ผลิตน้ำประปา ขณะที่น้ำเพื่อการเกษตรจะพิจารณาเป็นลำดับหลัง เนื่องจากปีนี้ต้นทุนน้ำมีต่ำมาก

โดยขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานเขื่อนแควน้อยฯ ทราบว่าในฤดูกาลผลิตปี 2559 จะไม่ส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน และสำรวจความต้องการปลูกพืชใช้น้ำน้อยของเกษตรกรในพื้นที่ว่าจะปลูกพืชชนิดใด จำนวนเนื้อที่เท่าไหร่ เพื่อปลูกทดแทนการทำนา

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าสถานการณ์น้ำอาจจะดีขึ้นจากการทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของพิษณุโลกในปีนี้ จะทำให้สามารถเก็บความชื้นในพื้นที่ป่าได้มากขึ้น การทำฝนเทียมในปีหน้าก็จะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าปีนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น