พระนครศรีอยุธยา - นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา พร้อมนายก อบต.บ้านป้อม นำเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลังเกิดการทรุดจนถึงตัวบ้านของชาวบ้านที่ปลูกอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่เร่งเข้าแก้ไข และช่วยเหลือชาวบ้านทันที
เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ (15 ก.ย.) นายสุชน ภัยธิราช นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายอภิชาติ สุขสมบูรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านป้อม และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านเลขที่ 42 หมู่ 4 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมี นางแสวง อินทร์แก้ว อายุ 71 ปี เป็นเจ้าของบ้าน หลังจากบ้านได้รับความเสียหายจากการเกิดเหตุตลิ่งทรุดเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบพบว่า บ้านหลังดังกล่าวอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพื้นดินบริเวณริมฝั่งแม่น้ำได้พังสไลด์ลงไปในแม่น้ำเป็นทางยาวกว่า 15 เมตร ลึกลงไป 3 เมตร และกินพื้นที่จากริมตลิ่งเข้ามา 5 เมตร จนถึงเสาของตัวบ้าน ทำให้แนวรั้วบ้าน รวมถึงต้นไม้ที่ปลูกไว้ และโรงจอดเรือได้รับความเสียหาย
นางแสวง อินทร์แก้ว เจ้าของบ้าน กล่าวว่า บ้านหลังนี้ตนอาศัยอยู่กับลูก และหลานรวม 5 คน โดยช่วงคืนที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกอย่างหนัก และในเวลาประมาณ 21.00 น.ซึ่งขณะนั้นตนนอนอยู่บนบ้านก็ได้เกิดเสียงดังขึ้นจึงได้ลงมาดู ปรากฏว่า ตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำได้ทรุดตัวลงไปในน้ำ จึงได้แจ้งไปยัง อบต.เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ
“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการสร้างแนวป้องกันน้ำอย่างถาวรให้ เนื่องจากขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หากยังไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนบ้านหลังอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย” นางแสวง กล่าว
นายสุชน ภัยธิราช นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดเหตุตลิ่งทรุดครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มเมื่อปี 2554 ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศและค่อยๆ กัดเซาะตลิ่งตลอดมา จนทำให้พื้นที่ดินบริเวณริมฝั่งแม่น้ำได้รับความเสียหาย ประกอบกับช่วงคืนที่ผ่านมา ได้มีฝนตกอย่างหนักทำให้ดินอุ้มน้ำไม่ไหวจึงเกิดพังลงมา
สำหรับการช่วยเหลือนั้น เบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะนำไม้มาตอกเป็นเสาเข็ม และนำกระสอบทรายมาวางทำเป็นแนวป้องกันน้ำเป็นการเบื้องต้นไปก่อน เนื่องจากขณะนี้เครื่องจักรยังไม่สามารถเข้าได้ พร้อมทั้งนำป้ายไวนิลมาปูคลุมพื้นดินไว้ป้องกันการปะทะจากน้ำฝน เพื่อไม่ให้ตลิ่งเกิดการทรุดตัวเพิ่มขึ้นอีก ส่วนการแก้ไขในระยะยาวนั้นต้องรออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำถาวรให้แก่บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ในละแวกดังกล่าว