xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเก่าเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมปี 57 เผยการก่อสร้างแบริเออร์ยกระดับถนนเสร็จแล้ว 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา - จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมปี 57 และช่วยเหลือประชาชน เผยโครงการก่อสร้างแบริเออร์ยกระดับถนนที่เป็นพื้นที่ลุ่มเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี ให้มีระดับสูงกว่าระดับน้ำที่ท่วมเมื่อปี 54 ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 100%

วันนี้ (24 ก.ค.) นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ย่างเข้าสู่ฤดูฝน หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหย่อมความกดอากาศต่ำพาดผ่าน ทำให้มีฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมขัง และในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายนของทุกปี จังหวัดพระนครศรีอยุธย าจะมีปริมาณฝนชุกหนาแน่นในพื้นที่ และจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำป่าสัก มีปริมาณเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง

ดังนั้น ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้เตรียมมาตรการไว้ 2 แนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้ โดยแนวทางที่ 1 ขณะนี้โครงการก่อสร้างแบริเออร์ยกระดับถนนต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี เพื่อให้มีระดับสูงกว่าระดับน้ำที่ท่วมเมื่อปี 2554 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นไปแล้ว 100% ซึ่งจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้

แนวทางที่ 2 สำหรับพื้นที่ที่อยู่นอกเขื่อนคันกั้นน้ำที่มีบ้านเรือนประชาชนอยู่ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี แม่น้ำน้อย ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในทุกปี รวมทั้งสิ้นกว่า 86,000 ครัวเรือนนั้น ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วมไว้แล้ว 2 แนวทาง

โดยแนวทางที่ 1 ได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ เร่งจัดทำแผนเผชิญเหตุให้แก่ชุมชนเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ประสบภัยได้ทันท่วงที แนวทางที่ 2 ได้ให้มีการก่อสร้างสะพานทางเดิน พร้อมทั้งจัดเตรียมเรือเพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ตามปกติเมื่อเกิดภัยน้ำท่วม

พร้อมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้าไปสำรวจบ้านเรือนประชาชนที่ประสบภัยว่า ในครอบครัวหนึ่งมีผู้อาศัยอยู่กี่คน และให้ถ่ายภาพบ้านเรือนแล้วนำมาเปรียบเทียบว่ามีความเสียหายในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเรื่องเงินทอง เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง

นายอุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา และป่าสักในขณะนี้จะมีน้ำต้นทุนในเขื่อนเจ้าพระยา และป่าสักน้อยมากในรอบ 15 ปี จนทำให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ แต่ทางจังหวัดก็ต้องเตรียมแผนเฝ้าระวังในฤดูน้ำหลากเพื่อป้องกันปัญหาน้ำล้นตลิ่ง เมื่อมีปริมาณฝนตกใต้เขื่อน

แต่ถ้าหากฝนตกเหนือเขื่อนพอดีกับการรองรับน้ำของเขื่อนก็จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้ แต่ถ้ามรสุมหรือพายุเข้าหลายลูกจนทำให้ปริมาณน้ำล้นเขื่อนก็จะเกิดภัยน้ำท่วมฉับพลันได้ ซึ่งทางจังหวัดก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นไว้แล้วดังกล่าว

ด้าน นายณรงค์เดช ฉิมเล็ก หัวหน้ากลุ่มวิชาการโยธาธิการและผังเมืองพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองพระนครศรีอยุธยา มีแผนดำเนินงานการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม และตลิ่งทรุดในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงเมื่อกระแสน้ำที่ไหลมาแรงแล้วกระแทกจนตลิ่งทรุดพังทลายลงมา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน

อย่างเช่นการก่อสร้างผนังเขื่อนกั้นน้ำที่โรงเรียนวัดตะกู หมู่ 4 ต.วัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ดังกล่าวของแม่น้ำน้อย เป็นทางโค้งน้ำ เมื่อถึงเวลาหน้าน้ำกระแสน้ำมาแรง เกิดแรงกระแทกจากกระแสน้ำกับโค้งน้ำ จนทำให้เกิดตลิ่งทรุดพังลงมาได้ น้ำก็ไหลทะลักเข้าสู่พื้นที่ลุ่ม ทำให้บ้านเรือน โรงเรียน และวัดที่อยู่บริเวณโค้งน้ำได้รับความเสียหาย

ทางโยธาธิการและผังเมืองพระนครศรีอยุธยา จึงได้ติดตั้งเขื่อนซีเมนต์ความยาว 100 เมตร แล้วนำก้อนหินใส่ตาข่ายวางเป็นชั้นๆ ละ 50 เซนติเมตร สูง 4 ชั้นวางไว้ด้านหน้า เพื่อลดแรงกระแทกจากน้ำที่ไหลมาแรง และแรงกัดเซาะของน้ำที่จะทำให้ตลิ่งพังลงมาได้ แล้วจะขยายเพิ่มขึ้นอีกทั้งด้านทิศเหนือ และด้านทิศใต้เพิ่มอีก 400-500 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม และตลิ่งพังทลาย
นายณรงค์เดช ฉิมเล็ก หัวหน้ากลุ่มวิชาการโยธาธิการและผังเมืองพระนครศรีอยุธยา




กำลังโหลดความคิดเห็น