xs
xsm
sm
md
lg

นาข้าวทุ่งกุลาเจอเชื้อราระบาดหนัก แนะเร่งกำจัดก่อนบานปลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร้อยเอ็ด - ชาวนา อ.เมืองสรวง เขตทุ่งกุลาร้องไห้ หว่านข้าวรอฝนมาแล้วเร่งใส่ปุ๋ย ทำรากที่ยังอ่อนแอปรับตัวไม่ทันหลังฝนตกเป็นโรครากเน่า ซ้ำเจอการระบาดโรคเชื้อราใบไหม้ และขอบใบแห้ง ต้องตัดใบทิ้งเพื่อให้ข้าวแตกยอดใหม่ ขณะที่ทางอำเภอเร่งรณรงค์กำจัดแมลงศัตรูพืชระบาด ย้ำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม

ที่ศาลาประชาคมบ้านดงเกลือ หมู่ 6 ต.คูเมือง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานมอบสารชีวภัณฑ์ให้แก่ชาวนา หลังจากเจ้าหน้าที่เกษตรอาสาและหมอดิน พบว่า นาข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งชาวบ้านได้หว่านปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เอาไว้ เริ่มพบมีการระบาดของศัตรูข้าว โดยเฉพาะใน ต.คูเมือง ที่สำรวจพบหนอนกระทู้กล้า หนอนห่อใบ หนอนชอนใบ และโรครากเน่าคุกคามเป็นพื้นที่กว่า 540 ไร่ หากไม่กำจัดการระบาดของโรคอาจจะขยายวงกว้าง ทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น

โดยการกำจัดนั้นใช้ชีวภัณฑ์เชื้อราบริวเวอร์เรีย และเชื้อราบีที ซึ่งเป็นเชื้อราที่ได้ผ่านการวิจัยแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสัตว์ แต่จะไปทำลายแมลง และหนอนที่เป็นศัตรูของพืชให้แก่ชาวนา

“พี่น้องชาวนาต้องเร่งฉีดพ่นชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูต้นข้าวโดยเร็ว เพื่อหยุดการระบาดของโรคข้าวในพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ”

นายอดิเรก อุ่นโอสถ นายอำเภอเมืองสรวง กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ อ.เมืองสรวง 5 ตำบล 49 หมู่บ้าน ที่มีการขึ้นทะเบียนทำนาต่อสำนักงานเกษตรอำเภอ 79,023 ไร่ ซึ่งร้อยละ 90 ทำนาหว่านเพื่อรอฝน เมื่อฝนตกก็เร่งใส่ปุ๋ยจึงเป็นต้นเหตุให้รากข้าวที่ยังอ่อนแอ เพราะยังไม่มีการปรับตัวหลังฝนตกเกิดโรครากเน่า และข้าวในนาใบใหม้หลังรับฝน โดยเฉพาะที่ยังเป็นใบอ่อนที่ง่ายต่อการระบาดของโรคเชื้อรา โรคใบไหม้ และโรคขอบใบแห้ง

ชาวนาต้องเร่งตัดใบข้าวเพื่อให้ข้าวแตกยอดใหม่ และเกิดการระบาดของหนอนกระทู้กล้า หนอนห่อใบข้าว ละหนอนชอนใบ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ตำบลเดียวมีเกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 100 ราย พื้นที่เสียหายเกือบ 100 ไร่

นายอดิเรก กล่าวว่า ได้กำชับให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน สำรวจตรวจสอบเฝ้าระวังการแพร่ระบาด เพื่อแก้ปัญหา และให้เจ้าหน้าที่เกษตรประจำพื้นที่เข้าไปควบคุมด้วยการใช้สารเชื้อราที่ทำลายหนอนแมลง แต่ไม่เป็นอันตรายต่อคน และสัตว์เข้าไปฉีดพ่น เพื่อไม่ให้ระบาดเพิ่มเติมอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น