นครพนม-ชาวบ้านตำบลบ้านกลางนครพนมโวยโครงการก่อสร้างจุดผ่อนปรนไทย-ลาว ”บ้านหนาด-ปากเป่ง”งบ 3 ล้านไร้มาตรฐานแถมสร้างในพื้นที่น้ำท่วม นอภ.แจงยังไม่ส่งมอบงาน จวกอีกอาคารลักไก่สร้างไม่ขออนุญาต
วันนี้ (4 ก.ย.58)ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนมว่า จากกรณีชาวบ้านใน ต.บ้านกลางหลายหมู่บ้านได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ถึงโครงการก่อสร้างอาคารจุดผ่อนปรนชั่วคราวชายแดนไทย-ลาว ระหว่างบ้านหนาด หมู่ 2 กับบ้านปากเป่งเมืองท่าแขกแขวงคำม่วน สปป.ลาว
โดยพื้นที่การก่อสร้างนั้นติดริมตลิ่งแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพื้นที่ๆชาวบ้านปลูกผักหน้าหนาวหลังจากระดับโขงลดลดลงในช่วงหน้าแล้งโดยหน้าฝนน้ำโขงจะสูงขึ้นและเอ่อท่วมพื้นที่บริเวณดังกล่าวทุกปี และเห็นได้ชัดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา น้ำโขงสูงขึ้นไหลล้นทะลักท่วมถนนคอนกรีตและอาคาร และหน้าฝนของทุกปีก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
นอกจากนี้จากการตรวจสอบของชาวบ้านยังพบว่า อาคารจุดผ่อนปรนดังกล่าว ใช้วัสดุในการก่อสร้างต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งส้วมที่สร้างเสร็จแล้วก็ใช้การไม่ได้ ส่วนอาคารจำหน่ายสินค้าเกษตร 6 คูหา โครงสร้างรากฐานเริ่มทรุดและแตกร้าว ขณะที่ฝ้าเพดานมีรูโบ๋แล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะพื้นดินดังกล่าวจะเป็นดินอ่อนถูกน้ำท่วมทุกปีเหมาะสำหรับปลูกผักเมื่อน้ำโขงลดลงเท่านั้น
ชาวบ้านได้ตั้งข้อสอบถามว่าทางภาครัฐได้จัดงบประมาณก่อสร้างอาคารในพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้อย่างไร
นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ นายอำเภอเมืองนครพนม กล่าวว่า อาคารจุดผ่อนปรนฯ เป็นเงินงบประมาณของจังหวัด โครงการความมั่นคงตามแนวชายแดน เพื่อความสงบเรียบร้อย เสนอของบประมาณไปในช่วงนายอนุกูล ตั้งคณานุกูลชัย อดีต ผวจ.นครพนม คนก่อน ในงบประมาณ 2.9 ล้านบาท
โดยทางอำเภอเป็นดำเนินการประมูลเปิดซองประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ได้บริษัท พาหุง เป็นผู้รับจ้าง เริ่มลงมือสร้างเมื่อเดือน มิ.ย.58 คาดจะแล้วเสร็จในกลางเดือน ก.ย.นี้ แต่เนื่องจากน้ำท่วมจึงขยายเวลาเพิ่มให้อีก 10 วัน
นายอำเภอเมืองนครพนม กล่าวต่อว่า เหตุที่ต้องลงไปสร้างใกล้ริมตลิ่งแค่ 8 เมตร เพราะพื้นที่บนฝั่งคับแคบ ส่วนพื้นที่ตลาดจุดผ่อนปรนก็เป็นของเอกชน จึงขอใช้ที่ปลูกใบยาสูบเดิมของชาวบ้านเนื้อที่ 1 ไร่สร้างอาคารแห่งนี้ เนื่องจากหากสร้างด้านบนฝั่งที่ห่างไปอีก 100 เมตร เจ้าหน้าที่ ตชด. ทหารพราน อส. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่เฝ้าประจำจุดแห่งนี้อาจดูแลไม่ทั่วถึง
ขณะที่ประชาชนสองฝั่งไทย-ลาว มาเช้ากลับเย็น ในช่วงจุดผ่อนปรนเปิดค้าขายสัปดาห์ละ 2 วันคือวันอังคารกับวันศุกร์
สำหรับจุดผ่อนปรนฯแห่งนี้จะปิดไปเลยก็ไม่ได้ เพราะเป็นจุดผ่อนปรนที่อ่อนไหวต่อความมั่นคง จึงสร้างอาคารขึ้นมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รับความสะดวก ส่วนกรณีผู้รับจ้างสร้างใช้วัสดุต่ำกว่ามาตรฐาน และส้วมใช้การไม่ได้ เนื่องจากระบบประปาเข้าไม่ถึง โดยจะเข้าตรวจสอบซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง และยังไม่มีการส่งมอบงานแต่อย่างใด มองว่าประชาชนสองฝั่งไทย-ลาว ได้ประโยชน์
“สำหรับอาคารจำหน่ายสินค้าการเกษตร 6 คูหา ฐานเริ่มทรุดแตกร้าวนั้น เป็นงบของโยธาธิการจังหวัด ไม่ทราบงบประมาณสร้างที่แน่ชัด แต่ก่อนจะสร้างไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตทางอำเภอเมือง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่แต่อย่างใด งบอาคารที่ก่อสร้างในปัจจุบันทั้ง 2 จุดโยธาธิการจังหวัดก็เป็นผู้ออกแบบเองด้วย” นายอำเภอเมืองนครพนม กล่าวย้ำ