xs
xsm
sm
md
lg

ฟาร์มสุกรแบกต้นทุนการผลิตสูงจากภัยแล้งรุนแรงนานกว่าที่คาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้เลี้ยงสุกรโอดต้นทุนผลิตสูงจากภาวะภัยแล้งที่ยาวนานผิดปกติ ทำให้สุกรโตช้า ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดน้อย บวกกับราคาข้าวโพด รำข้าวถีบตัวสูงขึ้น ดันราคาสุกรสูงขึ้นในช่วงสั้น

นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด และประธานชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้มีช่วงยาว และรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องเผชิญต่อการขาดแคลนน้ำสะอาดที่เพียงพอเป็นช่วงนานกว่าเดิม ทำให้หมูโตช้า ส่งผลให้ปริมาณหมูออกสู่ตลาดน้อย

นายเสน่ห์ กล่าวต่อว่า โดยปกติช่วงแล้งจัดสุกรจะโตช้าเพราะกินอาหารได้น้อย ประกอบกับปีนี้ เกษตรกรต้องแบกต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะต้องซื้อน้ำสะอาดมาใช้ในฟาร์มยาวกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะเดือนเมษายน และพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่แล้งจัดจนต้องซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์มมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

“นอกจากขาดแคลนน้ำแล้ว ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพด และรำข้าวยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย ส่งผลให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นจากเดิมมีราคากิโลกรัมละ 9.40 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 10.80 บาท ขณะที่ราคารำข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 12 บาท จากเดิมราคาประมาณ 9 บาท ซึ่งทางสหกรณ์ฯ เองได้พยายามหาทางช่วยสมาชิกโดยการใช้สำปะหลังทดแทน แต่ก็ช่วยได้เพียงเล็กน้อย” นายเสน่ห์ กล่าว

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ผู้เลี้ยงจึงต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากผลผลิตที่เบาบาง และวัถตุดิบที่แพงขึ้น ส่งผลให้ราคาหมูขยับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยขณะนี้มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 65-68 บาท แต่ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลต่อราคาที่ปรับขึ้นนี้ เพราะเป็นการขึ้นในช่วงสั้นๆ และมีโอกาสที่จะปรับตัวลงในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งตรงกับเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

“เกษตรกรต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าราคาสุกรที่ปรับขึ้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไม่ได้ฉวยโอกาส แต่ต้นทุนที่สูงขึ้น และภัยแล้งที่ยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม หากผลผลิตข้าวโพด และรำข้าวเข้าสู่ภาวะสมดุลน่าจะทำให้สถานการณ์ของผู้เลี้ยงสุกรปรับตัวดีขึ้น” นายเสน่ห์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น