xs
xsm
sm
md
lg

ฟาร์มสุกรขาดน้ำ-ข้าวโพดแพง ส่งผลปริมาณหมูน้อยดันราคาสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้เลี้ยงสุกรปรับตัวลดเสี่ยง หลังแบกต้นทุนสูงจากปัญหาฟาร์มขาดน้ำช่วงแล้งและข้าวโพดราคาสูง ด้วยการชะลอการนำลูกสุกรรอบใหม่เข้าเลี้ยง คาดส่งผลให้มีปริมาณออกสู่ตลาดน้อยลง ดันราคาสูงในช่วงสั้น

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีต่อเนื่องมาถึงกลางปีที่ผ่านมา (เดือนมกราคม-กรกฎาคม) ทำให้หลายพื้นที่ประสบกับภาวะน้ำแล้ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจึงไม่สามารถนำสุกรเข้าเลี้ยงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำไม่สะอาดจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพสุกรที่เลี้ยง

ขณะที่ความต้องการของตลาดมีไม่มากนัก ผู้เลี้ยงจึงตัดสินใจไม่นำลูกสุกรรอบใหม่เข้าเลี้ยง ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำฟาร์มพ่อ-แม่พันธุ์จำเป็นต้องตัดวงจรการผลิตด้วย เพื่อลดปริมาณลูกหมูและลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปลดพ่อ-แม่พันธุ์มาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว แต่ลูกสุกรก็ยังขายไม่ได้

นายสุนทราภรณ์กล่าวต่อไปว่า ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นปีนี้ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงและการเติบโต เพราะปกติสุกรจะกินน้ำเป็นสามเท่าของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน เมื่อขาดน้ำดื่มการกินอาหารจึงลดลงไปด้วย ทำให้สุกรเติบโตช้ากว่าปกติ การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตลดลง

นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังถีบตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย ทำให้ต้องเสียรอบการผลิตไป ประกอบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนรับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ทั้งหมด ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมมีราคากิโลกรัมละ 9.40 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 10.80 บาท สำหรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูกาลใหม่ต้องรออีก 2-3 เดือนจึงจะมีผลผลิตออกมา

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือกล่าวด้วยว่า จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นผู้เลี้ยงจึงต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเลี้ยงที่เบาบาง และวัตถุดิบที่แพงขึ้น ส่งผลให้ราคาหมูขยับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยขณะนี้มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 65-68 บาท แต่ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลกับราคาที่ปรับขึ้นนี้ เพราะเป็นการขึ้นในช่วงสั้นๆ และมีโอกาสที่จะปรับตัวลงในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งตรงกับเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
โดยเป็นช่วงที่มีความต้องการบริโภคน้อยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น