อ่างทอง - จังหวัดอ่างทอง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเอกราช และ ททท.สุพรรณบุรี เตรียมจัดงานมหกรรมกลองนานาชาติ ประจำปี 58 ระหว่างวันที่ 27-29 ส.ค.นี้ เผยปีนี้จัดขึ้น 2 แห่ง “ที่หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช” และ “ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
วันนี้ (25 ส.ค.) นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมจัดงาน “มหกรรมกลองนานาชาติ” ประจำปี 2558 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2558 นี้ เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และภูมิปัญญาในการทำกลองของชุมชนเอกราช ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอ่างทอง และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีไทย
โดยงานในปีนี้ได้จัดขึ้น 2 แห่ง คือ แห่งแรก ที่หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง โดยจะมีพิธีสงฆ์ และพิธีไหว้ครูกลอง รวมทั้งขบวนแห่เฉลิมพระเกียรติฯ ตลอจนขบวนแห่กลองใหญ่ กลองนานาชาติ การแสดงศิลปกรรมได้แก่การแสดงกลองยาว ลิเก วงดนตรีลูกทุ่ง และการแสดงศิลปินตลก
ส่วนสถานที่จัดงานอีกแห่งหนึ่ง คือ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ซึ่งจะจัดให้มีการแสดง แสง สี เสียง รากวัฒนธรรมชุมชนเอกราช การแสดงกลองยาว และกลองนานาชาติ การแสดงลิเก และวงดนตรีลูกทุ่ง การจัดนิทรรศการวิถีชีวิตคนทำกลอง มุทถ่ายภาพที่ระลึก การจำหน่ายสินค้าโอทอป และตลาดย้อนยุคริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับ “หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช” ตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็น 1 ใน 10 เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2554 ชุมชนทำกลองตำบลเอกราชแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหลังตลาดป่าโมก ได้เริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 โดยชาวบ้านได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบต่อกันมาสู่ลูกหลาน มีความเชี่ยวชาญในการทำกลองชนิดต่างๆ ทั้งกลองไทย และกลองนานาชาติ ตลอดสองข้างทางในชุมชนจะเห็นร้านผลิต และจำหน่ายกลองเป็นระยะๆ โดยจะเริ่มหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบที่ใช้ทำกลอง ได้แก่ ไม้ฉำฉา เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่ายกับหนังวัว เราสามารถชมกรรมวิธีการทำกลองตั้งแต่เริ่มกลึงท่อนไม้เรื่อยๆ ไปจนถึงขั้นตอนการขึ้นกลอง การฝังหมุด
กลองที่ทำมีตั้งแต่ขนาดเล็ก จนถึงกลองขนาดใหญ่ เช่น กลองทัด ซึ่งเราจะได้เห็นถึงฝีมือการทำที่มีคุณภาพ ประณีต สวยงาม และยังสามารถซื้อไปเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน หากผ่านหน้าบ้านกำนันหงษ์ฟ้า หยดย้อย จะเห็นกลองยาวที่สุดในโลกตั้งอยู่ หน้ากลองกว้าง 36 นิ้ว 92 เซนติเมตร ยาว 7.6 เมตร ทำจากไม้จามจุรีต่อกัน 6 ท่อน สร้างปี 2537 ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี