xs
xsm
sm
md
lg

เบิ่ง "ผีขนน้ำ" สัมผัสพลังศรัทธา ม่วนหลายๆ ที่ เชียงคาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผีขนน้ำ หรือ แมงหน้างาม ที่บ้านนาซ่าว
วัฒนธรรมของชาวไทยนั้นมีประเพณีเกี่ยวกับกับความเชื่อมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับ เรื่อง “ผี” ที่มาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยคนไทยมักจะเชื่อว่า สถานที่แทบทุกแห่งมีผีให้ความคุ้มครองรักษาความเชื่อนี้จึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดขนบธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ ที่บ้านนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ก็เช่นกัน มีประเพณีที่เกี่ยวกับผีที่น่าสนใจ นั่นคือ ประเพณี ”ผีขนน้ำ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แมงหน้างาม” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและการละเล่นที่สนุกสนานไม่แพ้ ผีตัวใด
ร่างทรงเจ้าปู่ร่วมรำกับผีขนน้ำบริวารของเจ้าปู่
โดยเดิมทีบ้านนาซ่าว นับถือผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่า เป็นสิ่งที่สืบทอดต่อๆ กันมา ชาวบ้านจึงมักจัดทำพิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษ หรือเรียกว่า “เลี้ยงบ้าน” เพื่อแสดงความเคารพและตอบแทนบุญคุณที่ "ผีเจ้าปู่" ให้ความคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินได้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งความเชื่อของการละเล่นผีขนน้ำหรือแมงหน้างามนั้น เกิดจากที่ชาวบ้านเชื่อว่า ก่อนที่จะทำไร่ทำนาต้องทำบุญอุทิศให้กับผีวัวผีควายที่ล้มหายตายจากไปและยังคงล่องลอยวนเวียนอยู่ตามที่เคยอาศัย เช่น ห้วย หนอง แม่น้ำ ครั้งเมื่อถึงเดือนหก ได้พบเห็นผู้คนที่ไปซึ่งได้ยินแต่เสียงกระดึงหรือกระดิ่ง พบแต่ขนไม่เห็นตัวตนเดินตามคนเข้าบ้าน จึงเรียกว่า "ผีขน" หรืออีกอย่าง การเล่นผีขนน้ำเป็นประจำในเดือนหกเป็นการขอฝน จึงเรียกว่า “ผีขนน้ำ” เพราะขนน้ำจากฟ้ามานั่นเอง ส่วนอีกชื่อที่เรียกว่า “แมงหน้างาม” นั้น เพราะผีขนน้ำหรือแมงหน้างาม เป็นที่โปรดปรานของเจ้าปู่จึงต้องมีการแต่งตัวละเล่นแมงหน้างามเพื่อให้เป็นที่พอใจของเจ้าปู่ แล้วฝนฟ้าจะตกตามฤดูกาล
เครื่องดนตรีต่างๆที่ชาวบ้านนำมาตีประกอบจังหวะ
ผีขนน้ำหรือ แมงหน้างาม เป็นที่ทรงโปรดของเจ้าปู่
การเล่นผีขนน้ำในแต่ละปีของชาวบ้านนาซ่าว ถือเอาช่วงก่อนที่จะมีการลงมือทำการเกษตรชาวบ้านจะมีการประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อจัดทำบุญเดือนหกวันแรม 1 ค่ำของทุกปี ก่อนวันทำบุญก็จะมีการบอกบุญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานในหมู่บ้านที่จัดขึ้น ซึ่งชาวบ้านจะจัดเตรียมปะรำพิธีไว้ เพื่อต้องรับชาวบ้านถิ่นอื่นๆ รวมทั้งชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวด้วย ผู้ที่เล่นผีขนน้ำส่วนใหญ่ มักเป็นชายหนุ่มในหมู่บ้านและเด็กๆ ที่ชอบความสนุกสนานร่าเริง แต่ในปัจจุบันผุ้หญิงก็สามารถร่วมเล่นได้ ซึ่งผู้เป็นผีขนน้ำจะต้องจัดเตรียมเครื่องแต่งกายแต่งตัวผีขนของตัวเองเพื่อประกอบการพิธีบวงสรวงผีบรรพบุรุษให้ความบันเทิงแก่ชาวบ้าน
ชุดแต่งกายของผีขนน้ำ
เครื่องดนตรีที่เรียกว่า กะลอ
การทำหน้ากากผีขนน้ำจะทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้งิ้ว ไม้ต้นตีนเป็ด (พญาสัตบรรณ) มาถากเป็นหน้ากาก โตพอควรกับใบหน้า จากนั้นวาดให้เป็นรูปผีน่ากลัว ตาโต จมูกโต ฟันใหญ่ แต่งด้วยสีธรรมชาติ และใบหูทำด้วยสังกะสีเป็นรูปสามเหลี่ยม หน้ากากผีขนน้ำมีอยู่ 2 ลาย คือลายผักแว่นกับดอกบัวเครือวาดอยู่บนหน้ากากด้วย ผมทำด้วยต้นกล้วยโดยต้นกล้วยลอกกาบแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งนำมาถักเปีย แต่ในปัจจุบันนำผ้ามาทำ แล้วเอามาใส่กับหน้ากากเพื่อทำให้ดูคล้ายผมยาวถึงน่องหรือบางคนยาวถึงตาตุ่ม จากนั้นนำกิ่งไผ่หรือกิ่งหวายพันด้วยกระดาษสีต่างๆมาติดตรงกลางให้เป็นเขาประกอบเข้าชุด ตามด้วยตกแต่งด้วยเศษผ้าสีต่างๆประกอบส่วนหัว สิ่งสำคัญที่สุดคือ "กระดึง" ผูกไว้ท้ายเอวจะทำให้ส่งเสียเสียงเวลาเดิน ส่วนเสื้อที่ใส่เน้นใช้วัสดุในท้องถิ่นเป็นหลัก ตัดเป็นริ้วๆให้เหมือนขน และมีอุปกรณ์ประกอบจังหวะ โดยตีเคาะ “กะลอ” เพิ่มจังหวะ สำหรับผู้ร่วมเดินขบวนจะตีกลอง ปรบมือ เป่าแคน ดีดพีณ สนุกสนานสลับกันไป
ชาวบ้านต่างร้องรำทำเพลงในขบวนแห่
นางแต่งประจำหมู่บ้านคนหนึ่งกล่าวว่า ตามความเชื่อของชาวบ้านเชื่อว่าผีขนน้ำเป็นบริวารของเจ้าปู่ซึ่งเจ้าปู่ชอบมาก ในการเล่นบุญเดือนหกถ้าไม่มีการเล่นผีขนน้ำหรือแมงหน้างามที่เจ้าปู่ชอบ เจ้าปู่จะไม่พอใจจึงต้องมีการเล่นประเพณีผีขนน้ำประจำทุกปี ผีเจ้าปู่จะลงมาเล่นด้วยการผ่านทางร่างทรง โดยเฉพาะวันที่สองของงานประเพณีบุญเดือนหก เจ้าปู่ก็จะเข้าทรงผู้ที่เป็นร่างทรงจะแต่งกายด้วยชุดเจ้าพ่อ สวยงามตามที่เตรียมไว้ร่วมแห่กับผีขนน้ำ โดยแห่ๆไปรอบหมู่บ้านเพื่อที่ชาวบ้านและเพื่อนบ้านต่างๆ ที่มาเที่ยมชมงาน และชาวบ้านยังเชื่อว่าการเล่นผีขนน้ำเกี่ยวข้องกับพิธีขอฝน คือว่าเชื่อว่าการเล่นผีขนน้ำจะเป็นตัวชี้ว่าปีไหนที่มีการเล่นผีขนน้ำมาก ปีนั้นฝนจะตกต้องตามฤดูกาล
ร่างทรงเจ้าปู่กำลังทำพิธีครอบเจ้าปู่
เมื่อถึงกำหนดประเพณีบุญเดือนหก บุญประจำปีวัดโพธิ์ศรีบ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยจะจัดขึ้น 3 วัน โดยวันแรกของงานหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วันโฮม" ชาวบ้านจะไปรวมตัวกัน แห่ดอกไม้เข้าผาม (ปะรำพิธี) เข้าไปยังวัดโพธิ์ศรีขบวนแห่นั้นประกอบด้วยนางเทียมร่างทรงเจ้าปู่ นางแต่ง ผีขน และชาวบ้านจากคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้านเดินแห่ขบวนไปรอบหมู่บ้าน ตีฆ้อง ตีกลอง ปรบมือ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เดินไปยังวัดโพธิ์ศรี เมื่อเดินถึงวัด พระก็จะตีกลองใหญ่ 3 ครั้ง ขบวนแห่ก็จะเดินรอบโบสถ์ 3 รอบ เสร็จแล้วก็นำดอกไม้ไปบูชาที่ผาม เป็นอันเสร็จพิธี
ชาวบ้านร่วมกันเดินแห่รอบๆ หมู่บ้าน
ผีขนน้ำเต้นรำไปตามจังหวะกลอง
วันที่สอง คือ วันแห่ ชาวบ้านจะออกไปร่วมกันทำพิธี "ครอบเจ้าปู่"  คำว่า ครอบ หมายถึง คาราวะ ซึ่งประกอบพิธีกันที่ดอนหอ “ศาลเจ้าปู่” ของหมู่บ้าน ถวายบั้งไฟ 5 กระบอก (ชาวบ้านเรียก มะเขี่ย) ซึ่งประกอบไปด้วยนางเทียมร่างทรงเจ้าปู่ นางแต่ง จ้ำและผู้มาร่วมพิธีอย่างสนุกสนาน จากนั้นผีขนน้ำก็จะออกเดินเล่นรอบหมู่บ้าน ตีร้องเล่นเต้นรำตามจังหวะเพื่อรอกำหนดแห่วัดเข้าโพธิ์ศรี เมื่อถึงเวลากำหนด ผีขนน้ำจะไปรวมตัวกันที่จุดนัดหมายบริเวณบ้านนาซ่าวรอจนกว่าผีขนน้ำแต่ละคุ้มมาครบแล้วจึงเริ่มแห่ขบวนเข้าไปในวัดซึ่งประกอบไปด้วย นางเทียม ผู้เป็นร่างทรงเจ้าปู่ นางแต่ง และขบวนผีขนน้ำ ขบวนบั้งไฟ ขบวนตีฆ้องตีกลองร้องรำทำเพลงให้ขบวนนางเทียม นางแต่งได้ฟ้อนรำ ส่วนผีขนก็จะเต้นรำไปตามจังหวะกลองโดยจะเป็นการฟ้อนที่ไม่มีกำหนดตายตัว ทำตัวให้เหมือนผีมากที่สุดแต่ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์สร้างท่าต่างๆนำมาใช้ในการเต้นรำ มี7ท่า เช่น ท่าครอบเจ้าปู่ เป็นต้น เมื่อเสร็จขบวนแห่รอบโบสถ์ออกจากวัดโพธิ์ศรีไปยังศาลเจ้าปู่บ้านนาซ่าวเพื่อนำบั้งไฟน้อยห้าบั้งจุดบูชาเจ้าปู่ เพื่อขอให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาลตามความเชื่อของชาวบ้านที่ปฏิบัติมา
ผีขนน้ำร่วมกันรำในบริเวณวัดให้ชาวบ้านได้บันเทิง
เมื่อถึงวันที่สาม วันสุดท้ายของงาน ก็จะเป็นวันทำบุญตักบาตรที่วัดและถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ มีการแสดงพระธรรมเทศนาให้ศีลให้พรชาวบ้าน ทำอุทิศส่วนกุศลให้ผีวัวผีควาย และที่สำคัญคือ "การแห่กัณฑ์หลอน" คือแห่ปัจจัยต่างๆถวายวัด เพื่อบำรุงวัดวาอารามให้เจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบทอดต่อๆ กันมา
หน้ากากสวยๆ ของผีขนน้ำ
เด็กๆในหมู่บ้านก็ร่วมเล่น ผีขนน้ำ
นับเป็นเวลาเนิ่นนานที่การเล่นผีขนน้ำที่บ้านนาซ่าวอาจถูกละเลยไปบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือความสามัคคีของคนบ้านนาซ่าวที่ยังคงยึดมั่นสืบทอดปฏิบัติทุกปี จึงทำให้การเล่นผีขนน้ำบ้านนาซ่าวนั้นกลับมาฟื้นฟู มีความโดดเด่น และที่สำคัญยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมให้คงอยู่ แสดงถึงความเชื่อ พลังศรัทธา และความสนุกสนานของการละเล่นผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ที่ทำให้ผู้มาเยี่ยมเยียนประทับใจมิรู้ลืม

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดเลย โทร. 0-4281-1405,0-4281-2812
กำลังโหลดความคิดเห็น