เลย - ชาวบ้านตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย สืบสานประเพณีโบราณกว่า 400 ปี เปิดงาน “ผีขนน้ำ ปี 59” แทนบุญคุณผีปู่ผีย่า และผีวัวผีควายที่มีบุญคุณต่อชาวบ้าน ท่ามกลางชาว จ.เลยและนักท่องเที่ยวร่วมงานคึกคัก
วันนี้ (22 พ.ค. 59) ที่บริเวณสนามที่ว่าการองค์การบริหารสวนตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย นายพรชัย ถมกระจ่าง ปลัดจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดงาน “ผีขนน้ำ ปี 59” งานประเพณีที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ โดยบรรยากาศโดยรวมเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนในพื้นที่จังหวัดเลย และนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก
นายเกียรติพงษ์ คชวงษ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย กล่าวว่า ประเพณีผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นการละเล่นที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ทั้งประวัติความเป็นมา ความเชื่อ รูปแบบวิธีการละเล่น การอนุรักษ์ การละเล่นผีขนน้ำบ้านนาซ่าวเป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาทุกปี ตกทอดกันมากว่า 400 ปี
ทั้งนี้ ชาวบ้านนาซ่าวแต่เดิมเป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน โดยอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนมาพบบริเวณพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์คือ “นาซำหว้า” ซึ่งเหมาะแก่การตั้งหลักแหล่งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เมื่อชุมชนขยายขึ้นก็ย้ายมาที่บริเวณบ้านสองโนน ตั้งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ก่อนหมู่บ้านยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ นับถือผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่าเท่านั้น พิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้นเรียกว่า “เลี้ยงบ้าน” จึงสืบทอดกันมา
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการเลี้ยงผีบ้านก็จะมีการฉลองด้วยการร้องรำทำเพลง ซึ่งจะประกอบด้วยนางเทียมร่างทรงเจ้าปู่ นางเทียมร่างทรงคนอื่นๆ นางแต่ง จ้ำและผู้มาร่วมพิธีอย่างสนุกสนาน พิธีเลี้ยงบ้านนี้จะทำกันทุกปี แค่ปีละครั้งเท่านั้น จุดมุ่งหมายเพื่อตอบแทนบุญคุณผีปู่ผีย่า ต่อมาผีเจ้าปู่ได้บอกความผ่านร่างทรงว่าให้ชาวบ้านทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” เพื่อเป็นการบูชาวัว ควาย ที่มีบุญคุณต่อชาวบ้าน แทนการนำมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวย
นอกเหนือจากการบูชาเพื่อรำลึกคุณของวัวควายที่มีต่อชาวบ้านแล้ว ยังมีความเชื่อสืบเนื่องต่ออีกว่า “ผีขน” คือ วัว ควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ตามห้วยหนองคลองบึงรอบๆ หมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำมาใช้ วิญญาณของวัว ควาย จะตามเข้าหมู่บ้านมาด้วย ซึ่งพบแต่ขนและได้ยินแต่เสียงกระดึงแต่ไม่เห็นตัว ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย” ยุคแรกๆ จะพากันเรียกว่า “การละเล่นผีขน” แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขนฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนน้ำ” มาถึงปัจจุบัน
การแต่งกายตกแต่งหัวผีขนน้ำนั้นจะนำเอาไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้นุ่น ไม้ตีนเป็ด ฯลฯ ที่มีขนาดพอเหมาะมาสลักเป็นรูปหน้ากาก วาดลวดลายลงสีต่างๆ เช่น ลายบัวเครือ ลายผักแว่น ตามความเชื่อและจินตนาการเพื่อให้ดูน่ากลัว โดยใช้ผ้าจากที่นอนเก่าไม่ใช้แล้วมาทำเป็นตัวเสื้อผีขนน้ำ ซึ่งทำให้นุ่นที่ติดอยู่กับที่นอนนั้นฟุ้งกระจายไปทั่วขณะที่เต้นรำ