มหาสารคาม - แพทย์ รพ.มหาสารคามเตือนประชาชนระวังเครียดจากการเสพข่าวสารเหตุรุนแรงแยกราชประสงค์และเหตุอื่นที่เกี่ยวข้อง หวั่นกระทบสุขภาพจิตหากเสพข่าวสารต่อเนื่องจนเกิดอาการกังวล ไม่สดชื่น แนะหากิจกรรมอย่างอื่นทำ หากไม่ดีขึ้นให้พบแพทย์
แพทย์หญิง สุกัญญา ปัจฉิมกุล จิตแพทย์โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า ผู้ที่รับฟังข่าวสารที่เกิดความไม่สงบในห้วงเวลานี้ส่วนใหญ่ก็จะเกิดอารมณ์ร่วมต่อสถานการณ์ ไม่ว่าจะการอ่านข่าวหรือดูข่าวแล้วรู้สึกเครียด กังวล ตกใจ เสียใจ ถ้าเกิดว่าความรู้สึกมากเกินไปหรือมีอารมณ์ร่วมมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดความเครียดได้ เมื่อเวลาเราเกิดความเครียดมากๆ อาจมีผลต่อร่างกายตามมา
เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม มีการปวดศีรษะ หรือนอนไม่หลับ อาการเหล่านี้แสดงว่าผู้เสพข่าวอาจเกิดอาการเครียดมากเกินไป ควรหยุดพักจากการรับฟังข่าวสารนั้นๆ ก่อน แล้วหากิจกรรมอื่นเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียด
ทั้งนี้ อาการเครียดสามารถพัฒนาไปเป็นอาการอย่างอื่นที่รุนแรงได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือกระทบการปรับตัวในสังคม หากประชาชนรับข่าวสารความรุนแรงจากภัยพิบัติ เหตุความรุนแรงจากความไม่สงบและความสูญเสียเป็นระยะเวลานาน รู้สึกนึกถึงแต่เหตุการณ์นั้นอยู่ในใจตลอดเวลาหรือเป็นเวลานาน จนเกิดอาการเครียดต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ รบกวนต่อการทำงานหรือรบกวนในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างนี้ให้คิดว่าเราน่าจะมีอาการวิตกกังวลหรือมีความเครียดมากเกินไปแล้ว
แพทย์หญิง สุกัญญากล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีรับมือกับความเครียด คือ 1. ลำดับแรกต้องมีสติก่อน ต้องรู้จักตัวเราว่า ณ ตอนนี้มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง 2. ต้องรู้ว่าปัญหาความเครียดอยู่ที่ตรงไหน 3. เราจะจัดการหรือมีวิธีรับมือกับปัญหาความเครียดอย่างไร ยกตัวอย่าง หากรู้หากเสพข่าวสารแล้วรู้ตัวว่าเครียดกังวล หดหู่ ให้เลี่ยงหรืองดการเสพข่าวสาร เบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ผ่อนคลาย หรือปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด รู้จักมองในแง่ดีมองในแง่บวก ให้มีความหวังและเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านพ้นไป
สุดท้าย 4. ถ้าเรายังจัดการกับตัวเองไม่ได้แล้วยังเครียดอยู่ ให้ปรึกษาหรือพูดคุยกับครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อนหรือบุคลากรทางการแพทย์ได้ หากมีปัญหาด้านสุขภาพจิตสามารถขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลชุมชน สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน