ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่สรุปความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัยครบรอบ 10 ปี เบื้องต้นน่าพอใจหลังพบสัดส่วนเกษตรกรได้รับผลกระทบสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารเคมีตกค้างในพืชผักอาหารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคลดลงเหลือเพียงประมาณ 30% จากที่เคยสูง 80-90% ย้ำต้องเดินหน้าต่อเนื่อง ขยายผลเน้นกลุ่มร้านขายอาหารปรุงสำเร็จ
วันนี้ (11 ส.ค. 58) ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน “10 ปี คนเชียงใหม่ได้อะไร จากโครงการอาหารเชียงใหม่ปลอดภัย” ซึ่งเป็นการเผยความคืบหน้าและผลการดำเนินงานโครงการอาหารเชียงใหม่ปลอดภัย ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2548 โดยมีเป้าหมายให้ปี 2559 จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นจังหวัดพืชอาหารปลอดภัย ที่ประชาชนเข้าถึงและบริโภคได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดการโครงการอาหารเชียงใหม่ปลอดภัย เปิดเผยว่า ในช่วง 20 ปีย้อนหลังไป คนเชียงใหม่โดยเฉพาะเกษตรกรได้รับผลกระทบสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 97.8 บางกลุ่มถูกตัดขาเนื่องใช้สารเคมีฆ่าหญ้า บางกลุ่มเป็นมะเร็ง บางกลุ่มประสาทหลอน นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างพืชผักอาหารที่วางขายตามตลาดพบมีสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในปริมาณสูงถึงร้อยละ 70-80
ขณะที่จากการดำเนินงานตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งการเข้าไปให้ความรู้เกษตรกรในการเพาะปลูกและรับรองมาตรฐาน ตลอดจนให้ความรู้แก่ผู้บริโภค พบว่าปัจจุบันปัญหาดังกล่าวลดน้อยลงเกินกว่าครึ่ง เหลือเพียงประมาณร้อยละ 30-40 เท่านั้น ทั้งปัญหาเกษตรกรได้รับผลกระทบสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารเคมีตกค้างในพืชผักอาหารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารปรุงสำเร็จ โดยเฉพาะตามโรงอาหารโรงเรียนต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาอาจจะยังเข้าถึงได้ไม่เต็มที่ แต่เชื่อว่าจะสามารถทำได้มากขึ้นตามลำดับ เพื่อให้ผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่ปลอดภัยอย่างแท้จริง