ศูนย์เชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีถวายพระพรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 ส.ค. 58 ทั้งจัดเสวนา “พลังวิเศษแห่งรักจากแม่”
วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา รศ.นพ.วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานพิธีถวายพระพรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 และงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันแม่แห่งชาติที่บริเวณโถงชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.นพ.วัฒนากล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทางคณะแพทยศาสตร์จึงได้จัดงานพิธีถวายพระพรและงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันแม่แห่งชาติ เพื่อให้ผู้คนทั่วไปที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลได้ร่วมลงนามถวายพระพรและได้เข้าชมนิทรรศการวันแม่แห่งชาติที่ทางคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดขึ้น
โดยภายในงานมีการเปิดให้รับการตรวจหมู่เลือด, ความดันโลหิตสูง, ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล, รับบริจาคดวงตา, ตรวจเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย และให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพจากแผนกโภชนาการ จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และเสวนาในหัวข้อ “พลังวิเศษแห่งรักจากแม่” โดยมีคุณแม่ดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 3 ท่านมาถ่ายทอดประสบการณ์ในการดูแลลูกที่ป่วยและมีสภาวะที่แตกต่างกัน
“พลังวิเศษแห่งรักจากแม่”
นางวาสนา ใจบุญ คุณแม่จากหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม 5 เล่าให้ฟังว่า ลูกชายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งสมองตั้งแต่อายุ 3 เดือน และได้มารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยหมอให้การรักษาโดยการผ่าตัดสมองและทำ VP Shunt (การใส่ท่อระบายน้ำในโพรงสมองแบบถาวร) และเมื่ออายุ 4 เดือนหมอเริ่มให้ยาเคมีบำบัด จนมาถึงปัจจุบันนี้ลูกชายได้รับการรักษาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว อาการของลูกชายตอนนี้ยังไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้ และมีการพัฒนาช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป
“ตอนนี้ลูกชายมีสภาวะหัวโต แขนขาขยับไม่ได้ และยังต้องให้อาหารทางสายยาง จึงต้องมาดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง”
นางวาสนากล่าวต่อว่า ก่อนหน้านั้นตนเป็นพยาบาลตั้งแต่ลูกชายป่วยก็ได้ลาออกมาดูแลลูกชายอย่างเต็มที่และยังมีลูกสาวอีก 1 คน อายุ 5 ขวบ ซึ่งจะต้องดูแลรับ-ส่งไปโรงเรียน ส่วนสามีตอนนี้ทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว สำหรับลูกชายนั้นหมอนัดรักษาทุกสัปดาห์โดยใช้วิธีเคมีบำบัด และทุกครั้งหลังจากให้ยาเคมีบำบัดลูกชายจะร้องไห้ตลอดเวลา เป็นผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในการรักษา และยังต้องย้ายเข้า-ออก ผู้ป่วยหนักอยู่บ่อยครั้ง
“ก็คิดว่าหากเกิดอะไรกับลูกในอนาคตตัวเองก็ยอมรับได้ เพราะปัจจุบันเราได้ทำดีที่สุดแล้ว และได้ใช้เวลาทุกนาทีเพื่อดูแลและทุ่มเทให้ลูก” นางวาสนาเล่าไปร้องไห้ไป
ด้านนางณัชชา อิ่นแก้ว คุณแม่จากห้องตรวจผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เล่าว่า เตรียมใจตั้งแต่ได้เห็นน้องการ์ตูนครั้งแรกที่มีลักษณะตัวเหลืองและอยู่รักษาที่โรงพยาบาล 1 เดือน น้องมีพัฒนาการเหมือนเด็กปกติทั่วไป พูดได้ แต่พออายุ 1 ขวบครึ่งคำพูดก็เริ่มหายไป ตนเลยพาน้องไปที่อนามัยโดยรับการประเมินอาการเบื้องต้น จึงรู้ว่าลูกมีโอกาสจะเป็นโรคออทิสซึ่มเป็นภาวะที่เกิดจากสมองมีพัฒนาการที่ผิดแปลกออกไปจากเด็กทั่วไป โดยเป็นภาวะที่ครอบคลุมพัฒนาการหลายๆ ด้าน
“จะไม่คิดว่าทำไมลูกเราถึงเป็นแบบนี้ หรือเป็นแบบนี้เพราะอะไร แต่จะคิดว่าลูกเราก็เหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่เป็นโรคทั่วไป และจะต้องมีวันหาย”
นางณัชชาเล่าต่อว่า เมื่อน้องการ์ตูนอายุ 5 ขวบมีผู้ใหญ่หลายๆ คนแนะนำให้มารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และรับการรักษาโดยการใช้ภาพเสมือนจริง ซึ่งผลที่ออกมาได้ผล น้องมีการพัฒนาที่ดีขึ้นและสามารถพาน้องออกไปไหนมาไหนได้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน
“ตอนนี้จะสอนลูกให้พูด “ขอโทษ” เพราะเมื่อออกไปสู่สังคมที่มีความคิดหลากหลายรูปแบบเราจะพยายามสอนลูกให้ขอโทษผู้อื่นก่อนเสมอถึงแม้เราจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม”
ปัจจุบันนี้เป็น single mom ดูแลลูกเพียงคนเดียว ถือได้ว่าตอนนี้ 24 ชั่วโมงจะอยู่กับลูกตลอดเวลา และวิธีคิดของแม่ที่อยู่ในภาวะแบบนี้คือ อย่าท้อ และหาเวลาพักผ่อน เพื่อที่จะได้ผ่อนคลายและมีแรงที่จะอยู่เคียงข้างกับคนที่เรารักต่อไป
สำหรับคุณแม่คนสุดท้าย นางผกามาศ มาวาย คุณแม่จากหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม 4 เล่าว่า ตอนตั้งครรภ์ดีใจมากเฝ้าบำรุงรักษาดูแลครรภ์อย่างดี กลัวทุกครั้งที่มาตรวจแต่ก็ยิ้มได้ทุกครั้งที่หมอบอกว่าน้องปกติดี จนกระทั่งถึงวันที่เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด โดยตอนนั้นลูกอยู่ในท่าเอาก้นออกมาซึ่งมีความเสี่ยงมาก แพทย์จึงได้ส่งตัวไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่มีเครื่องมือพร้อม เมื่อน้องคลอดออกมาน้องไม่ร้อง ไม่ยกแขนยกขา และต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา และถูกส่งตัวไปอยู่ห้อง ICU ของเด็กเป็นเวลาหลายสัปดาห์
นางผกามาศบอกต่อว่า ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ที่ร้านอาหาร และได้ลาออกมาเพื่อดูแลลูกเพราะอยากเรียนรู้พัฒนาการของลูกที่เกิดขึ้น แต่ทุกวันนี้น้องยังต้องได้รับความดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง และยังใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอดเวลา
มีหลายครั้งที่มีคนถามว่า “ทรมานเด็กเกินไปไหม ถอดเครื่องช่วยหายใจเถอะ น้องจะได้ไปสบาย ตอนนั้นหัวใจของคนเป็นแม่แทบจะสลายเลยตอบทุกคนไปว่า ลูกกินนมของแม่ได้ รักษาด้วยยาได้ จะให้ฆ่าลูกตัวเองหรือ” นางผกามาศเล่าทั้งน้ำตา