ลำปาง - กสทช.เขต 3 ลำปาง สั่งบริษัทเอกชนรื้อเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ติดชุมชนหนองแมงดา เมืองลำปาง หลังชาวบ้านรุมคัดค้านต่อเนื่อง ผวาฟ้าผ่า คลื่นแม่เหล็ก ย้ำมีคนค้านคนเดียวก็ตั้งไม่ได้
วันนี้ (8 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีชาวบ้านหนองแมงดา ต.พิชัย อ.เมืองลำปาง รวมตัวคัดค้านไม่ให้เทศบาลตำบลพิชัย อนุญาตให้บริษัทเอกชนตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ใกล้ชุมชน เพราะเกรงผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัยของชาวบ้านในพื้นที่ และได้ชุมนุม รวมทั้งยื่นเรื่องผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฯ เทศบาลฯ มาแล้วหลายครั้ง ล่าสุด ได้มีข้อสรุปออกมาแล้ว
ซึ่ง นายฉลาด อาสายุทธ์ ผู้อำนวยการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภาค 3 ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 6 ส.ค. แจ้งผลการหารือแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีประชาชนคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถึงนางนันทนา บุญเรืองทา ตัวแทนชาวบ้านบ้านหนองแมงดา
โดยระบุว่า ตามที่สำนักงาน กสทช.ภาค 3 ได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวม 33 คน ซึ่งเป็นตัวแทนหน่วยงานหลัก เช่น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง เทศบาลตำบลพิชัย องค์การบริหารส่วนตำบลพิชัย บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด สำนหักงาน กสทช.เขต 3 ลำปาง และ กสทช.ภาค 3 เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร้องเรียน กรณีการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด ในพื้นที่บ้านหนองแมงดา ม.5 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอของบริษัทฯ ในการรื้อถอนเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากพื้นที่หมู่ 5 บ้านหนองแมงดา เนื่องจากตัวแทนชาวบ้านยืนยันว่า ชาวบ้านบ้านหนองแมงดา ไม่ต้องการให้ตั้งเสาดังกล่าว โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 3-4 เดือนนี้
ผู้อำนวยการ กสทช.ภาค 3 ให้เหตุผลว่า กระบวนการในการขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมของสำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการดังนี้ 1.ในการขออนุญาตตั้งสถานีฯ นั้น ผู้ประกอบการต้องยื่นคำร้องขอ พร้อมแสดงเอกสารหลักฐานการทำความเข้าใจต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ที่ตั้งสถานี ตามประกาศ กสทช.
2.หากมีประชาชนในพื้นที่ที่จะตั้งสถานีฯ แม้แต่เพียงคนเดียวคัดค้าน และร้องเรียนมายัง กสทช. สำนักงานฯ ก็จำเป็นต้องระงับการพิจารณาการออกใบอนุญาตไว้ จนกว่าข้อร้องเรียนจะได้รับการแก้ไขแล้วเสร็จ หรือจนกว่าผู้ประกอบการได้มีการทำความเข้าใจต่อประชาชนเรียบร้อยแล้ว
3.ในกรณีของบ้านหนองแมงดา ตัวแทนชาวบ้านได้ชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านว่า ชาวบ้านกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องฟ้าผ่า และคลื่นสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะมีผลต่อสุขภาพ โดยให้บริษัทฯ ย้ายออกไปตั้งในพื้นที่ห่างจากชุมชนอย่างน้อย 400 เมตร
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้เสนอให้ กสทช.เน้นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมให้แก่ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วถึง โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการตั้งเสาส่งฯ ใกล้กับที่อยู่อาศัย หรือชุมชน
สำหรับการก่อสร้างเสาสัญญาณดังกล่าวที่ชาวบ้านหนองแมงดาออกมาคัดค้าน เนื่องจากเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา ตัวแทนบริษัทเอกชนเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ได้เข้าทำประชาคมกับชาวบ้านกลาง ซึ่งเป็นจุดเดิมที่ขออนุญาตไว้กับทางเทศบาลเมืองพิชัย (ห่างจากจุดก่อสร้างปัจจุบันกว่า 300 เมตร) ปรากฏว่า ชาวบ้านไม่ยินยอมให้ตั้ง แต่ให้บริษัทฯ ย้ายออกจากหมู่บ้านเกิน 400 เมตร ซึ่งบริษัทฯ ยินยอม จึงได้นำผลการประชาคมของชาวบ้านกลางไปยื่นขออนุญาต และเทศบาลเมืองพิชัย อนุญาตให้ก่อสร้างได้
แต่ทว่าพื้นที่ก่อสร้างใหม่ที่บริษัทเอกชนรายดังกล่าวย้ายห่างจากหมู่บ้านไปกว่า 400 เมตรนั้น กลับไปอยู่ในพื้นที่บ้านหนองแมงดา ซึ่งชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้จุดตั้งเสามากที่สุดประมาณ 50 เมตร รวม 40 ครัวเรือน ไม่ทราบเรื่อง และบริษัทไม่ได้เข้าไปทำประชาคมแต่อย่างใด ทำให้ชาวบ้านออกมาคัดค้าน แต่ทางบริษัทผู้รับเหมาอ้างว่าต้องดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญาจ้าง มิฉะนั้นตนเองจะต้องถูกปรับ จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวล และได้เข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ตลอดมา
ก่อนหน้านี้ แม้ว่าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง จะให้ผู้รับเหมายุติการก่อสร้างเพื่อรอผลการพิจารณาของ กสทช. เพื่อไม่ให่เกิดความเสียหาย แต่ผู้รับเหมายังคงเดินหน้าก่อสร้างต่อ จนสุดท้ายเสาส่งสัญญาณได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าเมื่อเสาสร้างเสร็จแล้ว กสทช.จะอนุญาตให้ปล่อยสัญญาณ จึงได้รวมตัวกันไปประท้วง คัดค้าน ทวงถามคำตอบต่อ กสทช.เขต 3 ลำปาง เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จนกระทั่ง กสทช.ได้มีมติให้บริษัทเอกชนรื้อถอนเสาส่งออกจากชุมชนดังกล่าว