เผย 4 ข้อเรียกร้องคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ต่อ กสทช. และโอเปอเรเตอร์ กรณีคิดค่าโทร.เป็นวินาที จี้ยกเลิกโปรใหม่ แต่ให้ใช้แพกเกจเดิมคิดเป็นวินาทีทั้งระบบ และให้นำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่าย บีบ กสทช.ให้ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด และให้ผู้บริโภครวมตัวกันสื่อสารไปยังผู้ให้บริการ
นายรุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการฯ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เอช ออกแพกเกจทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ที่คิดค่าโทร.เป็นวินาทีว่า ไม่ตอบสนองต่อข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ไม่ต้องการให้โอเปอเรเตอร์เอาเปรียบผู้บริโภค
“โปรโมชันค่าโทร.เป็นวินาทีที่ออกมาจากผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย มีอัตราค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะเมื่อคิดเฉลี่ยแล้วจะมีราคาค่าบริการแพงขึ้น แต่สิทธิประโยชน์ลดลง ตั้งแต่ 15-65% ขึ้นอยู่กับโปรโมชัน”
ดังนั้น คอบช. จึงขอเสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ไปยังผู้กำกับดูแล หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูมูฟ เอช
ได้แก่ 1.ขอให้มีการยกเลิกโปร.วินาทีทั้งหมด เนื่องมาจากสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภค และไม่ได้มีการคิดเป็นวินาทีจริงๆ ราคาแพงขึ้น จึงมีข้อเสนอที่ง่ายกว่านั้นคือ ใช้แพกเกจเดิมแบบนาทีที่มีอยู่ต่อไป เพียงแต่ว่าให้คิดตามจริงเป็นวินาที
2.การนำเสนอข้อมูลทั้งหลายจากค่ายมือถือ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะช่วยในการทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนง่ายขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย 3.เรียกร้องให้ กสทช.ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ หรือมาตรการป้องกันจากระเบียบของผู้บริโภคในการบังคับให้ค่ายมือถือทุกค่าย คิดค่าโทร.เป็นวินาทีเท่านั้น และไม่มีการคิดค่าโทร.ด้วยวิธีอื่นใดทั้งสิ้น
และสุดท้าย 4.ขอเรียกร้องลูกค้าทั้งหลายที่เป็นผู้บริโภคที่พิจารณา และใคร่ครวญว่าต้องการใช้โปรโมชันวินาทีที่ออกมาจริงๆ หรือไม่ ถ้าคิดอย่างไรให้สื่อสารไปยังผู้ให้บริการ เพื่อเรียกร้องโปรโมชันที่ยุติธรรมต่อผู้ใช้งานจริงๆ เพราะคาดว่าผู้ให้บริการจะมีการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขึ้น
น.ส.ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการฯ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คอบช. ยกตัวอย่างแพกเกจอย่างแพกเกจ isecond 345 บาท ที่สามารถโทร.ได้ 4,800 วินาทีต่อเดือน หรือ 80 นาที กับแพกเกจเดิมismart 399 บาท โทร.ได้ถึง 150 นาทีต่อเดือน หากเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว แพงขึ้นถึง 65.3%
“บางโปรโมชันของทรูที่ไม่มีการปัดเศษแต่คิดเป็นวินาที เมื่อคิดรวม 60 วินาที เป็นเงินทั้งสิ้น 1.2 บาท เกินกว่าที่ กสทช.กำหนดไว้ 99 สตางค์ต่อนาที แต่ทั้งนี้ทาง กสทช.ยังให้โอกาสในการปรับแก้ไขโปรโมชันถึงวันที่ 1 มีนาคม ทาง คอบช.ก็จะติดตามตรวจสอบต่อไป”
นอกจากนี้ ยังมองว่าการตั้งโปรใหม่ขึ้นมาถือเป็นการหลอกชาวบ้านเหมือนดูว่าถูกกว่าเป็นวินาที แต่พอรวมเป็นนาทีแล้วแพงกว่าที่คิดเดิม สุดท้ายเมื่อผู้บริโภคไม่เลือกใช้ก็จะเป็นข้ออ้างจากผู้ให้บริการได้ว่าผู้บริโภคไม่เลือกใช้งานเอง
นายไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการทั่วไป คอบช. ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ในการเอาเปรียบผู้บริโภค หรือหากจะย้อนไปตั้งแต่การประมูล 3G ให้ลดค่าบริการเฉลี่ย 15% แต่ก็มีเพียงผู้บริโภคบางส่วนเท่านั้นที่ได้ลดค่าบริการจริง
“การคิดค่าโทร.แบบวินาทีที่ออกมา เหมือนเป็นการฉ้อโกงที่รัฐให้การสนับสนุน เพราะสิ่งที่ กสทช.ทำให้เกิดออกมาคือการคิดโปรโมชันใหม่ ไม่ใช่การทำให้ระบบเดิมคิดตามจริงเป็นวินาที ดังนั้น ทางคุ้มครองผู้บริโภคจึงเชื่อว่าต้องช่วยกันเรียกร้องให้เกิดขึ้นให้ได้”
Company Relate Link :
Indy Consumers