ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน อาจค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะได้ประมูลความถี่ 4G ในช่วงปลายปีนี้ และการที่โอเปอเรเตอร์มือถือ 2 ค่ายเริ่มให้บริการ 4G บนความถี่ 2100 MHz ก่อนรอคอยการประมูลความถี่ 1800 MHz เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครือข่ายในการให้บริการในอนาคตอันใกล้
แน่นอนว่าจุดสำคัญที่สุดคือการแย่งชิงลูกค้าให้หันมาใช้งาน 4G ในระบบมากยิ่งขึ้นซึ่ง นอกจากนำสมาร์ทโฟนจากอินเตอร์แบรนด์ที่รองรับเข้ามาจำหน่ายแล้ว อีกกลยุทธ์หนึ่งก็คือการเพิ่มเฮาส์แบรนด์ที่รองรับ 4G ที่ต้องมีราคาให้ผู้บริโภคสามารถเอื้อมถึงได้
ปริศนา รัตนสุวรรณศรี ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานธุรกิจโพสต์เพด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวถึงภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนย้อนหลังตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาว่า สัดส่วนเครื่องที่รองรับ 4G เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะมีสัดส่วนชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงต้นปี 2559
'ในแง่ของยอดขาย สมาร์ทโฟนปี 2556 จะอยู่ที่ราว 9 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.03 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนสมาร์ทโฟนในท้องตลาดราว 19 ล้านเครื่องใกล้เคียงกัน แต่ที่เห็นชัดคือสัดส่วนของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นจาก 47.9% เป็น 64.8% เช่นเดียวกันกับเครื่องที่รองรับ 4G เพิ่มขึ้นจาก 3.3% เป็น 8.1%'
ขณะที่ยอดขายโทรศัพท์ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2558 ที่ผ่านมาจะอยู่ที่ราว 26,800 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนราว 4.3 ล้านเครื่อง เป็นสัดส่วนสมาร์ทโฟนราว 76.5% ที่สำคัญคือเป็นเครื่องที่รองรับ 4G กว่า 16.6%
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลในส่วนของสัดส่วนการจำหน่ายระหว่างในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะอยู่ที่ 35% ต่อ 65% เป็นช่องทางการจำหน่ายผ่านทางโอเปอเรเตอร์ราว 25% ผ่านแบรนด์ 30% ช่องทางไอที 16% และลูกค้าทั่วไป 29%
ขณะที่พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น อย่าง 20% ของลูกค้าจะมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง ,กว่า 60% เปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่ทุกๆ 18 - 24 เดือน และ 23% เปลี่ยนทุกปี โดยมองที่ 2 เหตุผลหลักคือ ตัวผลิตภัณฑ์ ดีไซน์ ฟีเจอร์ กับ แบรนด์ของสินค้า
เมื่อมองเข้ามาในดีแทค ที่ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 28 ล้านราย พบว่า 41.7% ยังใช้งานฟีเจอร์โฟนอยู่ โดยรวมทั้งที่เป็น 2G และ 3G ขณะที่เครื่องรองรับ 3G มีสัดส่วนราว 58.3% และเครื่องที่รับ 4G ประมาณ7.9% ทำให้ดีแทคมองว่า การเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในการนำเครื่อง 4G เข้ามาจำหน่าย จะช่วยเพิ่มปริมาณลูกค้าที่ใช้งาน 4G ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
'ทางดีแทคตั้งเป้าหมายหลักในปีนี้ไว้ว่าจะมีลูกค้าที่ใช้งาน 4G ทั้งหมด 2.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีใช้งานแล้ว 1.2 ล้านราย ในขณะที่ในระบบมีเครื่องที่รองรับการใช้งานแล้วประมาณ 2.2 ล้านราย ดังนั้น 3 เรื่องที่ดีแทคต้องทำคือ การให้ลูกค้าที่มีเครื่องหันมาใช้บริการ ,ขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้น และสุดท้ายคือการจำหน่ายสมาร์ทโฟนรองรับ 4G ในราคาที่เอื้อมถึงได้'
โดยกลยุทธ์ของ ดีแทค ในตลาดดีไวซ์คือมีตัวเลือกสมาร์ทโฟนที่หลากหลาย ทำให้ลูกค้าได้เครื่องราคาถูกอย่าง iPhone 6 เริ่มต้นที่ประมาณ 18,000 บาท หรือ iPhone 5s เริ่มต้น 6,000 บาท เมื่อนำ iPhone 4s มาแลก เพียงแต่ลูกค้าต้องชำระค่าบริการล่วงหน้า หรือการได้ค่าโทร.เท่าค่าเครื่องกรณีซื้อเครื่องสมาร์ทโฟนสำหรับกลุ่มเริ่มต้นใช้งาน
ถัดมาคือการเพิ่มประสบการณ์ในการใช้งานให้แก่ลูกค้า อย่างการพัฒนา ดีแทค แอปพลิเคชัน ให้ครบถ้วนทั้งการตรวจสอบการใช้บริการ ชำระค่าบริการ สามารถเติมเงินให้แฮปปี้ได้ มีการแนะนำแพกเกจเสริมมาให้ใช้งาน หรือการนำแอปเสริมอย่าง Capture บริการเก็บรูปบนคลาวด์มาให้ลูกค้าได้ใช้งาน
***ส่งเฮาส์แบรนด์ลุย 4G
ดังนั้นการที่ดีแทค เลือกนำ Eagle X สมาร์ทโฟนเฮาส์แบรนด์ ที่ทางแซตทีอีเป็นผู้ผลิตให้ เข้ามาเป็นสินค้าทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการเครื่องรองรับ 4G จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะเพิ่มปริมาณผู้ใช้งาน 4G ในระบบของดีแทคด้วย
'การที่ดีแทคเลือกแซตทีอี เพราะมองว่าเป็นผู้ผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าดีแทคได้ ทั้งในแง่ของดีไซน์ตัวเครื่อง สเปกที่ให้มา และราคา เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการความแตกต่างจากเครื่อง 3G ดังนั้นจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และราคาให้เหมาะสม'
โดยในแง่ของระดับราคาเครื่องสเปกเดียวกันระหว่าง 3G และ 4G จะแตกต่างกันประมาณ 1,000 - 1,500 บาท แต่เชื่อว่าภายในต้นปี 2559 ความแตกต่างจะลดลงมาอยู่ที่ราว 600 - 700 บาท ทำให้โอกาสที่เครื่อง 4G จะเข้ามาในตลาดมีมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาดีแทคจำหน่ายสมาร์ทโฟนเฮาส์แบรนด์ไปประมาณ 7.5 แสนเครื่อง มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องราว 15% ทุกๆไตรมาส ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาจำหน่ายไปแล้วประมาณ 2 แสนเครื่อง ไม่รวมกับโปรโมชันลดราคาที่ไมเกรดลูกค้าจาก 2G มาเป็น 3G อีกราว 1 ล้านเครื่อง และสมาร์ทโฟนอินเตอร์แบรนด์ ที่รวมๆกันไตรมาสแรก ดีแทคจำหน่ายสมาร์ทโฟนไปทั้งหมด 2 ล้านเครื่อง
'ปีนี้ดีแทคตั้งเป้าจำหน่ายเฮาส์แบรนด์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเครื่อง โดยจะมีทั้งรุ่นที่เป็น 3G และ 4G โดยตอนนี้มี 3G อยู่ในตลาด 3 รุ่น ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,690 บาท ส่วน 4G มี Eagle X ออกมาทดลองตลาดโดยตั้งเป้าว่าจะขายให้ได้ 50,000 เครื่องก่อนและจะมีอีกอย่างน้อย 2 รุ่นตามมาในปีนี้'
ในขณะที่ฝั่งของทรูมูฟ เอช นอกจากที่เริ่มผลักดันตลาด 4G ด้วย TrueSmart ที่ระดับราคาเกือบหมื่นบาทแล้ว ล่าสุดได้ร่วมมือกับทางเลอโนโว ในการนำ Lenovo A6000 เข้ามาทำตลาดภายใต้ชื่อ True Lenovo 4G จำหน่ายในราคา 4,590 บาท ซึ่งถือเป็นสมาร์ทโฟน 4G ราคาถูกที่สุดในกลุ่มเฮาส์แบรนด์ตอนนี้
ทำให้เห็นได้ว่าตอนนี้โอเปอเรเตอร์เริ่มที่จะนำเครื่อง 4G ราคาถูกเข้ามาทำตลาดแล้ว เพื่อผลักดันให้ลูกค้าหันมาใช้งาน ก่อนที่ตลาดจะเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากมีการประมูล 4G ในช่วงปลายปีนี้