ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - อาจารย์ มทร.ล้านนา ค้นพบ “เมล็ดคอคอเด๊าะ” ต้นไม้ชนเผ่ากะเหรี่ยง สามารถสกัดทำเป็นสีย้อมผ้าได้หลายเฉดสี ทำให้เส้นใยไหมได้สีที่เป็นธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการสิ่งทอไทย
รศ.ดร.รจนา ชื่นศิริกุลชัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้วิจัยนวัตกรรมเส้นใยไหมสีฟ้าธรรมชาติจากเมล็ดคอคอเด๊าะ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้กับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกและแฟชั่นในระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้ เปิดเผยว่า มีการค้นพบเมล็ดคอคอเด๊าะที่สามารถนำมาสกัดใช้กับเส้นใยไหมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิตแต่อย่างใด
โดยการค้นพบครั้งนี้เกิดจากการได้พูดคุยกับพ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชาว์ ปราชญ์ปวาเกอญอ ว่าชาวชนเผ่ากะเหรี่ยงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเคยเห็นกวางมากินยอดอ่อนของต้นไม้ชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น สูงไม่เกิน 4 เมตร ลักษณะใบกลมรีใหญ่ คล้ายใบโพธิ์ ขนาดประมาณ 1 ฟุต เมื่อชนเผ่าเห็นว่ากวางกินได้คนก็น่าจะกินได้ เลยลองเอามากินบ้าง และตั้งชื่อต้นไม้นี้ว่าคอคอเด๊าะ
คำว่า คอ หมายถึงกวาง ส่วนคำว่า เด๊าะ คือส่วนของยอดอ่อนของใบคอคอเด๊าะ ยอดอ่อนและดอกสามารถนำมารับประทานสดและลวกกินกับน้ำพริก ลาบ
ส่วนของใบนำมาเผาและประคบบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนสามารถหายได้ และส่วนของรากยังนำมาต้มเป็นยารักษาอาการฟกช้ำ หรือเกิดอุบัติเหตุ มีดอกสีขาวเป็นช่อคล้ายดอกเข็ม มีเมล็ดอยู่ภายในเมล็ดมีลักษณะคล้ายลูกท้อ มีสีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม สีฟ้า สีม่วง และสีดำ ปลูกตามพื้นที่สูงอากาศเย็นตามเชิงเขาและตามลำห้วยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
รศ.ดร.รจนากล่าวอีกว่า เมื่อไปสำรวจต้นไม้ชนิดนี้ในพื้นที่และนำส่วนที่ให้สีซึ่งเป็นเมล็ดมาสกัดเป็นสีย้อมผ้าได้สีฟ้าใส สีแบบเทอร์ควอยส์ สีฟ้าปนเขียว โดยเมล็ดคอคอเด๊าะจะมีน้ำมันปนอยู่ในตัวของเมล็ดซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ ที่ทำให้สีติดโดยที่ไม่ต้องใช้สารช่วยติดสี หรือตัวแปรสี
จากรายงานผลการวิเคราะห์และทดสอบที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรุงเทพฯ ทำการวิเคราะห์และทดสอบ 3 รายการ ความคงทนของสีต่อแสง ความคงทนของสีต่อการซัก และความคงทนของสีต่อการขัด ผลการวิเคราะห์และทดสอบทั้ง 3 รายการอยู่ในระดับที่ดีมาก ระดับ 4-5 สีเปลี่ยนจากสีเดิม สีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสีจะมีสีตกติดเล็กน้อย ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ต่อวงการสิ่งทอไทย
ทั้งนี้ การนำเส้นใยไหมย้อมสีฟ้าธรรมชาติจากเมล็ดคอคอเด๊าะแบบไม่ใส่สารจากการสกัดสีจากเมล็ดคอคอเด๊าะจะได้เฉดสีออกมาตามสีของเมล็ดคอคอเด๊าะและสียึดติดเส้นใยไหมได้ดี และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.รจนากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การนำเส้นใยไหมย้อมสีฟ้าธรรมชาติจากเมล็ดคอคอเด๊าะมาออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกและแฟชั่นตามแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการออกแบบ โดยดูจากแนวโน้มตลาดญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่เน้นในเรื่องไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสนใจผลิตภัณฑ์อย่างเช่นชุดลำลอง, เสื้อลำลอง, เสื้อคลุม, กางเกงขาสั้น, กางเกงขายาว, กระโปรง ,หมอนอิง, กระเป๋า. ตุ๊กตา, พวงกุญแจ, หมวกและผ้าพันคอ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้หากมีการออกแบบดีๆ เชื่อว่าจะมีตลาดรองรับจำนวนมาก
“ตอนนี้ได้ไปช่วยชนเผ่ากะเหรี่ยง กลุ่มโอทอป กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนสร้างนักอออกแบบที่มีความเป็นอัตลักษณ์และนำมาต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการปลูกฝังวิธีคิดให้มีจิตวิญญาณ มีความรู้ ความสามารถในการ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เห็นคุณค่าของอัตลักษณ์เส้นใยไหมสีฟ้าธรรมชาติจากเมล็ดคอคอเด๊าะของตนเองและนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดการสร้างงาน มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถที่จะต่อยอดรูปแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกและแฟชั่นในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” รศ.ดร.รจนา กล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.รจนาคาดหวังว่าจากผลการวิจัยในครั้งนี้จะสามารถช่วยให้ตัวแทนกลุ่มโอทอป กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นำไปต่อยอดทางธุรกิจ การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวหรือมากกว่า และมีความคุ้มทุน สามารถขยายโอกาสทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้แก่กลุ่มเครือข่ายคลัสเตอร์สิ่งทอในระดับภาคจนถึงระดับประเทศ
โดยเฉพาะการพัฒนาคุณค่าของอัตลักษณ์กะเหรี่ยง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมาใช้ประโยชน์ในงานออกแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs อื่นๆ ในอนาคต