xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง คกก.สอบข้อเท็จจริงนายทุนขุดบ่อลูกรังราชบุรีนำขยะมาทิ้งที่กาญจน์ ชาวบ้านเครียดปีนต้นไม้ประท้วงวุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - อัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิกาญจน์ ป็นประธานประชุมไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านในพื้นที่ตำบล “หนองตากยา” อำเภอท่าม่วง ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นบ่อขยะของนายทุนจากราชบุรี ที่นำมาทิ้งนานกว่า 5 ปี ขณะเดียวกัน เกิดเหตุระทึกระหว่างประชุมเมื่อหญิงวัย 47 ปี ชาวบ้านหนองตากยา สุดเครียดหวั่นชาวบ้านแพ้นายทุน ปีนต้นไม้ประชด ทำให้ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่กรูออกจากห้องประชุมหว่านล้อมนานกว่าชั่วโมงจึงยอมลงมา



จากกรณีชาวบ้านหมู่ 1, 4, 7, 8, 12 และหมู่ 14 ต.หนองตากยา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี กว่า 200 คน รวมตัวประท้วง และนำสื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ขุดตักดินลูกรัง หิน ทราย ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเนื้อที่กว่า 80 ไร่ ที่มีนายทุนชาวจังหวัดราชบุรี เป็นเจ้าของ แต่พื้นที่ดังกล่าวกลับนำขยะจำนวนมหาศาลมาทิ้งลักษณะฝังกลบ ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณ โดยชาวบ้านทั้งหมดเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือใน 3 ประเด็น คือ 1.ชาวบ้านต้องการให้เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น 2.ขอให้หยุดการนำขยะมาทิ้งโดยเด็ดขาด 3.ทางบริษัทที่นำขยะมาทิ้งต้องทำการปรับปรุงบูรณะพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้กลับมาดังเดิม ในขณะที่ชาวบ้านรวมตัวกัน ร.ท.ดำรง ปักกาเวสูง ผบ.ชุดควบคุม ร.9 พัน 3 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ พร้อมกำลังได้เดินทางมาดูแลความสงบ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น

ต่อมา วันนี้ (5 ส.ค.) ที่ห้องประชุม อบต.หนองตากยา หมู่ 10 ต.หนองตากยา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี นายองอาจ เธียรโชติ อัยการจังหวัดฝ่ายคุ้มครองสิทธิ สำนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานประชุมไกล่เกลี่ยหาข้อยุติเกี่ยวกับชาวบ้านในพื้นที่ ต.หนองตากยา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ร้องเรียนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับบ่อบำบัดขยะแบบฝังกลบของเอกชนส่งกลิ่นเหม็น ที่ตั้งอยู่ติดภูเขาพื้นที่ หมู่ 4 ต.หนองตากยา โดยมี พ.ต.อ.กิตติพงษ์ เลี้ยงชีพ ผกก.สภ.สำรอง นายนรภัทร วัฒนวรายุทธ ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอท่าม่วง ร.ท.ดำรง ปักกาเวสูง ผบ.ชุดควบคุม ร.9 พัน 3 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ นายสายชล ตันมันทอง กำนันตำบลหนองตากยา และนายน้อม บุญปองหา รองนายก อบต.หนองตากยา พร้อมเจ้าหน้าที่ อบต.หนองตากยา

โดยตัวแทนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายสัญชัย ไวคกุล และนายณรงค์ชัย บุญเกลี้ยง พร้อมที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการบ่อขยะที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก อบต.หนองตากยา และผู้ประกอบการบ่อลูกรังที่ได้รับอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ถูกร้องเรียน ส่วนตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมมีทั้งหมด 7 คนนำโดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต.หนองตากยา

เมื่อเริ่มการประชุม นายองอาจ เธียรโชติ อัยการจังหวัดฝ่ายคุ้มครองสิทธิ สำนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานการประชุมได้ให้แต่ละฝ่ายแนะนำตัว จากนั้นได้สอบถามข้อมูลข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียน และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งขั้นตอนการอนุญาตให้ดำเนินการประกอบกิจการการบ่อขยะ และที่มาของที่ดิน สำหรับบรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างตึงเครียด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างโต้เถียง และให้เหตุผลของแต่ละฝ่าย

สุดท้ายฝ่ายผู้ประกอบการบ่อขยะ และชาวบ้านต่างยอมรับข้อเสนอของอัยการจังหวัดว่า ขอให้คนกลางมาดำเนินการตรวจสอบปัญหาบ่อขยะ รวม 7 คนและให้ทางผู้ประกอบการหยุดขนขยะเข้าพื้นที่เป็นระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม มาตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางน้ำและกลิ่นอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการ และชาวบ้านต่างยอมรับ การประชุมใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ

โดยมีชาวบ้านเป็นจำนวนมากจากตำบลหนองตากยา ทั้ง 16 หมู่บ้านมารอรับฟังข้อตกลงที่หน้า อบต.หนองตากยา พร้อมกับนำป้ายมาขึงเอาไว้โดยมีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดเอาไว้ทั้งด้านซ้ายและขวา โดยมีข้อความว่า “5 ปีที่รอคอย ชาวหนองตากยา ขอขอบคุณท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองตากยา ร้องเรียนกรณีได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบการกิจการรับทำการกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย (บ่อขยะ) หมู่ 4 ต.หนองตากยา อ.ท่าม่วง ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองตากยา องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตากยา จึงแต้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานผลการตรวจสอบต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอท่าม่วง ทั้งหมด 7 คน

ประกอบด้วย 1.น.ส.ชนาภา หมื่นเอ 2.นายไพฑูรย์ จีนโสภา ตัวแทนชาวบ้าน 3.สาธารณสุขอำเภอท่าม่วง ตัวแทนภาครัฐ 4.นายสัญชัย ไวคกุล ตัวแทนผู้ประกอบการ 5.ร.ท.ดำรง ปักกาเวสูง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง 6.นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝ่ายคนกลาง และ 7.นายนรภัทร รัตนวรายุทธ ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอท่าม่วง ฝ่ายคนกลาง

นายสัญชัย ไวคกุล ผู้ประกอบการบ่อขยะ ที่ถูกชาวบ้านร้องเรียน เปิดเผยภายหลังว่า ก่อนอื่นตนต้องขอความเห็นใจจากชาวบ้านก่อน ผู้ประกอบการก็ต้องการทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อย่างที่ภาพที่ทุกคนเห็นที่ได้ขึ้นไปดูสถานที่จริงคือ บ่อขยะตามที่เป็นข่าว จะเห็นได้ว่าเราทำตามพอสมควร ซึ่งทางชาวบ้านเองก็ได้มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องกันมาหลายครั้งแล้ว

ก่อนหน้านั้น ชาวบ้าน และแกนนำได้มีการเรียกร้องมาหลายครั้งแล้วรวม 9 ข้อ ซึ่งเราเองก็ได้รีบเร่งดำเนินการตามที่แกนนำ และชาวบ้านเรียกร้องมาทั้ง 9 ข้อตามคำเรียกร้องของชาวบ้าน ซึ่งเราได้ทำตามข้อเรียกร้องไปแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของชาวบ้าน ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านเป็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย

ส่วนตนก็ได้รับความเสียหายในส่วนของธุรกิจทั้งชื่อเสียง และข่าวที่ไปลงหลายๆ อย่าง ที่มีทั้งความจริง และไม่จริง ก็ขอให้ทุกคนพิจารณากันเอาเอง เพราะเราได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง และทุกหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบก็ได้เข้ามาตรวจสอบอย่างถูกต้องเช่นกัน

แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่วันนี้ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เพราะประชาชนจะได้เห็นความจริงอีกด้านหนึ่ง สำหรับการทำประชาคมก่อนดำเนินกิจการนั้น มันต้องทำในเบื้องต้นอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ผ่านการทำประชาคมกิจการก็ไม่สามารถทำได้ ถามว่าจะมีการฟ้องร้องกันหรือไม่ ซึ่งตรงจุดนี้เราจะได้ปรึกษากับทนายอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องดูความเหมาะสม และตนในฐานะผู้ประกอบการก็ต้องการอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

ส่วนนายเฉลิม สุขเจริญ ตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เราไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งการให้หาคนกลางเราก็ไม่ทราบมาก่อนเช่นกัน เราจึงไม่สามารถเตรียมเอกสาร หรือข้อกฎหมายที่เราพอรู้บ้างมาเสนอ ซึ่งทั้งคืนที่ผ่านมา เราได้เตรียมเอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่ดินมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ดินตรวจสอบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นที่ดินแปลงที่ได้รับอนุญาตให้ทำบ่อลูกรังมาก่อน และมาได้รับอนุญาตจาก อบต.ให้ทำบ่อขยะอีกครั้งหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้ก็ไดมีข้อสรุปว่าให้ตั้งคณะกรรมการของแต่ละฝ่ายมาตรวจสอบ รวมทั้งให้นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเป็นผู้ตรวจสอบเกี่ยวกับมลพิษกลิ่น และน้ำที่ไหลลงสู่ลำคลองสาธารณะ แต่ถึงแม้พิสูจน์ออกมาผลจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าชาวตำบลหนองตากยาที่ได้รับผลกระทบก็คงไม่ยอมอย่างเด็ดขาด ซึ่งทุกคนจะสู้กันต่อไป เพราะในที่ประชุม ตน และตัวแทนชาวบ้านมีข้อกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือ เกรงว่าอนาคตในภายภาคหน้าบ่อขยะที่อยู่ติดกับภูเขานับวันยิ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นดินลูกรัง หากเกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องเราเกรงว่า บ่อขยะอาจจะสไลด์ลงมาก็เป็นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังประชุมหารือแก้ไขปัญหาขยะอยู่ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตากยา นางอมรพันธุ์ เฉิดฉันพิพัฒน์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 131/2 หมู่ 14 ตำบลหนองตากยา มีบ้านอาศัยอยู่ใกล้กับบ่อขยะ เกิดอาการเครียด และปีนขึ้นไปอยู่บนต้นสัตบันโดยไม่มีใครรู้ ก่อนที่จะมีคนมาเห็น และตะโกนบอกเพื่อนบ้านให้มาช่วยกันเกลี้ยกล่อมลงมา แต่ไม่ยอม ชาวบ้านจึงไปตามนายวิรัตน์ ลูกชาย อายุ 15 ปี ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ มาช่วยเกลี้ยกล่อมแต่ไม่ยอมเช่นกัน โดยนางอมรพันธุ์ มีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับขอให้ผู้ที่มีอำนาจมาเจรจา

สุดท้าย นายนรภัทร วัฒนวรายุทธ ปลัดอำเภอท่าม่วง จึงออกจากห้องประชุมมาเกลี้ยกล่อมจึงยอมลงมาจากต้นไม้ และบอกว่า ตนรู้สึกเครียดมากต่อปัญหาขยะ เพราะมีบ้านอยู่ใกล้กัน การประชุมครั้งนี้กลัวว่าตัวแทนที่เข้าเจรจาจะพ่ายแพ้ต่อกลุ่มนายทุน จึงตัดสินใจปีนต้นไม้โดยไม่รู้ตัว และหลังจากที่นางอมรพันธุ์ ลงมาสู่พื้นดินสร้างความโล่งใจให้แก่เพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก




กำลังโหลดความคิดเห็น