xs
xsm
sm
md
lg

พบอีก! กรมศิลป์บูรณะวัดโบราณเมืองแปดริ้วจนเพี้ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลายเป็นของใหม่ คล้ายเพิ่งถูกสร้างขึ้นได้ไม่นาน
ฉะเชิงเทรา - พบอีก! กรมศิลป์บูรณะวัดโบราณเมืองแปดริ้วจนเพี้ยน ซ้ำรอยพระธาตุ “วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน” เมืองลำปาง ทำชาวบ้านรอบวัดเสียดายมนต์เสน่ห์ความเก่าแก่ที่หายไป

วันนี้ (26 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านบริเวณโดยรอบวัดสายชล ณ รังษี (วัดแหลมบน) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อายุนับร้อยปี สร้างขึ้นเมื่อปี 2385 หมู่ 2 ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า กรมศิลปากรเข้าบูรณะสถูปเจดีย์เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งโบราณ จนมีสภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก ไม่เหลือมนต์เสน่ห์ และความเก่าแก่ซึ่งเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นอยู่เลย หลังการบูรณะแล้วเสร็จเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สถูปเจดีย์โบราณได้กลายสภาพเป็นเจดีย์รุ่นใหม่ จนคล้ายกับเพิ่งถูกก่อสร้างขึ้น ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจที่สมบัติ และคุณค่าทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษได้ถูกทำลายจากฝีมือของหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านการอนุรักษ์ศิลปะ และวัตถุโบราณ

ชาวบ้านต่างไม่สบายใจอย่างยิ่ง และรู้สึกอึดอัด ไม่สามารถทำใจยอมรับได้ แต่ชุมชนขาดความเข้มแข็ง จึงไม่มีใครกล้าพูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากทางวัดนั้นไม่ได้ตั้งชาวบ้าน และคนในชุมชนเข้ามาเป็นกรรมการวัดเพื่อดูแลรักษาสมบัติของชุมชนแต่อย่างใด แต่ตั้งเพียงนักการเมืองท้องถิ่น และคนจากภายนอกชุมชนให้เข้ามาเป็นกรรมการวัด ประชาชนรอบวัดนั้นจึงไม่สามารถที่จะพูดอะไรได้มากนัก เนื่องจากเกรงใจนักการเมืองในพื้นที่

แต่เมื่อพบว่ามีข่าวของการบูรณะพระธาตุวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน จ.ลำปาง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีความผิดเพี้ยนไปจากเดิมในทำนองเดียวกัน จึงได้พยายามที่จะประสานผู้สื่อข่าวเพื่อแจ้งสิ่งที่ชาวบ้านโดยรอบวัดสายชลไม่สบายใจให้ทราบ และนำเผยแพร่ออกสู่สังคมให้ได้รับรู้ถึงการต้องสูญเสียเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไปอีกหนึ่งแห่ง

ขณะเดียวกัน วัดสายชล ยังคงมีพระอุโบสถโบราณเก่าแก่ ก่ออิฐถือปูนแบบมุขลด ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่ว ลดชั้น 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาซ้อนกันชั้นละ 3 ตับ เครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ใช้ไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว ด้านหน้า และด้านหลังพระอุโบสถทำเป็นมุขลด มีกรอบวงโค้งแบบซุ้มหน้านาง ตกแต่งระหว่างเสา

ผนังพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนมีฐานบัวรองรับ มีประตูด้านหน้า และหลังด้านละ 2 ประตู ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 4 บาน เหนือช่องประตู และหน้าต่างมีซุ้มโค้ง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นแบบศิลปะตะวันตก บานประตูหน้าต่างไม้ทาสีแดง ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มี.ค.42 ชาวบ้านเกรงว่าหากปล่อยให้มีการบูรณะต่อไปโดยที่ไม่ได้มีการคำนึงถึงคุณค่าทางศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นของเก่าแบบดั้งเดิมเอาไว้ จะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียโบราณวัตถุ และโบราณสถานแบบเดิมไปอีก
ชาวบ้าน เสียดายความขลัง
ชาวบ้าน อยากได้ของเก่าคืน
ยังเหลือโบสถ์โบราณ อีกหนึ่งหลัง
เสน่ห์แบบเก่า ของสถูปโบราณ
กำลังโหลดความคิดเห็น