กาญจนบุรี - ชาวบ้านท่าเสา เมืองกาญจนบุรี นัดชาวบ้านประชุมอีกรอบ 22 พ.ค.นี้เวลา 18.00 น.ที่ศาลาประชาคมบ้านท่าเสาหมู่ 2 ตำบลลาดหญ้า เพื่อเตรียมประชุมทวงคืนวัตถุโบราณ พร้อมร่างหนังสือถึงกรมศิลป์หากไม่บูรณะพิพิธภัณฑ์ขอให้นำวัตถุโบราณที่ขุดไปจากรอบเจดีย์วัดขุนแผนคืนมา เชื่อจะมีชาวบ้านเดินทางมาประชุมหารือกันจำนวนมาก
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (20 พ.ค.58) นายธีระศักดิ์ พิศูจน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านท่าเสา ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่บริเวณเจดีย์วัดขุนแผนว่า จากกรณีกรมศิลปากรเสนอให้ยุบพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ 9 แห่งโดย 1 ใน 9 แห่งมีพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี รวมอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง
ผลการประชุมมีความเห็นพร้อมกันว่าจะร่างหนังสือสอบถามไปยังกรมศิลปากรที่รับผิดชอบพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้ากาญจนบุรี ถามว่าวัตถุโบราณที่กรมศิลปากร ขุดไปจากเจดีย์วัดขุนแผนเมื่อหลายปีก่อนนั้น มีวัตถุโบราณอะไรบ้าง และมีทั้งหมดเท่าไหร่ และปัจจุบันนำวัตถุโบราณทั้งหมดไปเก็บไว้ที่ไหน เพราะหากกรมศิลปากรมีการยุบพิพิธภัณฑ์จริงตามที่ชาวบ้านกำลังวิตก พวกเราชาวบ้านท่าเสา และชาวจังหวัดกาญจนบุรี ก็ต้องการที่จะให้กรมศิลปากร นำวัตถุโบราณทั้งหมดกลับมาคืนให้กับพวกเรา นี่คือข้อสรุปที่มีขึ้นในการประชุมในวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับการประชุมในวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมามีแค่คณะกรรมการหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปคณะกรรมการหมู่บ้านได้กำหนดเอาไว้ว่าจะส่งหนังสือไปถึงชาวบ้านทุกครัวเรือน รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นทั้งตำบลลาดหญ้า ให้มาประชุมพร้อมกันในวันที่ 22 พ.ค.เวลาประมาณ 18.00 น.ที่ศาลาประชาคมบ้านท่าเสา หมู่ 2 ต.ลาดหญ้า เชื่อว่าจะมีชาวบ้านเดินทางมาประชุมหารือกันเป็นจำนวนมาก
นายธีระศักดิ์ พิศูจน์ เปิดเผยต่อว่า ส่วนตัวแล้วคิดว่า กรมศิลปากร จะที่จะมาบูรณะพิพิธภันณ์สงครามทุ่งลาดหญ้า และนำวัตถุโบราณทั้งหมดกลับมาไว้ที่เดิม ทั้งนี้เพื่อให้บุตรหลานและเยาวชนได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัตถุโบราณ เชื่อว่าจะดีกว่าการที่กรมศิลปากรยุบพิพิธภัณฑ์อย่างแน่นอน และหากมีการพัฒนาปรับพื้นที่โดยรอบพิพิธภัณฑ์ให้ดูสวยงาม เชื่อได้อีกว่า จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมและศึกษาวัตถุโบราณไปพร้อมๆกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลทำให้สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เจดีย์วัดขุนแผนพบมีป้ายบรรยายเอาไว้ด้านหน้าระบุว่า "โบราณสถานวัดขุนแผน หันหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่ลำตะเพิน ประกอบด้วยอุโบสถทางด้านหน้า เจดีย์รายและสิ่งก่อสร้างอื่นๆทางด้านหลัง และล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว โบราณสถานแห่งนี้มีเจดีย์ทรงพระปรางค์เป็นประธานของวัดอยู่ด้านหลังและมีแนวกำแพงแก้วกั้นแบ่งส่วนพื้นที่ออกมาต่างหาก
ปรางค์ประธานยังคงปรากฏการสร้างมุมตรงกลางขนาดเล็กอย่างที่นิยมตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นลงมา แต่ปรางค์วัดขุนแผนมีขนาดเล็กกว่า สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อยพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของเมืองกาญจนบุรีเก่าในฐานะวัดศูนย์กลางของชุมชน กรมศิลปากร ดำเนินการขุดศึกษาทางโบราณครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 และต่อมาได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการอนุรักษ์อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2552"
สำหรับฝั่งตรงข้ามเจดีย์วัดขุนแผน มีโบราณสถานวัดแม่ม่ายเหนือ และโบราณสถานวัดแม่ม่ายใต้ ตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก ส่วนบริเวณตรงข้ามกับโรงเรียนวัดกาญจนบุรีเก่า หรือโรงเรียนอุดมราษฎร์วิทยา มีโบราณสถานป้อมเมืองกาญจนบุรี จำนวน 4 ป้อม แต่ละป้อมก่อด้วยหินธรรมชาติผสมอิฐเป็นทรงสี่เหลี่ยม ป้อมกาญจนบุรีเก่า สันนิษฐานว่า เป็นป้อมของค่ายทหารที่สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนกลางลงมา เพื่อเฝ้าระวังเหตุตามแนวชายแดนและชะลอศึกเมื่อยามสงคราม นอกจากนี้ในพื้นที่บ้านท่าเสา หมู่ 2 ยังมีโบราณสถานอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร มีพื้นที่รวมกันประมาณ 250 ไร่