xs
xsm
sm
md
lg

เหตุแรงลมในทะเลทำปฏิบัติการฝนหลวงแก้วิกฤตแล้งเมืองพัทยาสะดุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ชี้แผนบินสร้างเม็ดฝนแก้ภัยแล้งในพื้นที่เมืองพัทยา ทำได้ค่อนข้างยาก เหตุจากแรงลมในทะเลเปลี่ยนทิศจึงต้องรอช่วงปลายฤดูฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำมากขึ้น วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ผ่านวิกฤตแล้ง

วันนี้ (25 ก.ค.) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้นำเครื่องบินแบบใบพัดเดี่ยว จำนวน 2 เครื่อง บรรทุกสารเคมีเพื่อนำไปโปรยบนท้องฟ้าบริเวณใกล้เคียงอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ในพื้นที่อำเภอบางละมุง เพื่อทำฝนเทียมอย่างเป็นทางการ และถือเป็นการบินเที่ยวแรก

หลังสถานการณ์ภัยแล้งในเมืองพัทยาได้เริ่มลุกลาม จนส่งผลให้อ่างเก็บน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาสำหรับเมืองพัทยา เหลือไม่ถึง 40% หรือประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุรวม 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่การใช้น้ำในปัจจุบันมีสูงถึงวันละกว่า 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา ระบุว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้อุปโภคบริโภคหลังสิ้นเดือนสิงหาคม

นายสุรพันธ์ สุวรรณไพบูลย์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ปฏิบัติการจัดทำฝนหลวงจะมีขึ้นทุกปีในช่วงฤดูฝนไปจนถึงเดือนตุลาคม แต่ด้วยสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้เข้าขั้นรุนแรงจึงทำให้มีการขยายระยะเวลาในการปฏิบัติการที่เร็วขึ้น และอาจเลิกภารกิจช้ากว่าที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ จะดำเนินการไปจนกว่าสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น โดยจะขึ้นปฏิบัติการประมาณ 4 เที่ยวบินต่อวัน ใช้สารฝนหลวงประมาณ 2.8 ตันเพื่อโปรยในจุดที่กำหนด เพื่อก่อให้เกิดผลกระตุ้นทางสภาพอากาศ และทำให้เมฆก่อตัวก่อนฝนจะตกลงมายังพื้นที่เป้าหมาย

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดชลบุรีขณะนี้ได้รับรายงาน ว่า ส่วนใหญ่พื้นที่การเกษตรจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำลดน้อยลงมาก ขณะที่ฝนตามฤดูกาลก็อาจจะตกน้อยกว่าปกติ แต่จากการจัดทำฝนหลวงก็พบว่า พื้นที่การเกษตรก็เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว และสถานการณ์เริ่มดีขึ้น

นายสุรพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ พยากรณ์ของกรมอุตุนิยมพบว่า จะมีร่องฝนพัดผ่านเข้ามายังพื้นที่ซึ่งจะทำให้มีปริมาณฝนตกมากขึ้น และจะทำให้อ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณเพิ่มมากพอสมควร แต่ในส่วนของอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลักของเมืองพัทยาพบว่า มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ จึงต้องเร่งเสริมด้วยการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้ไหลเข้าอ่างมากขึ้น

“ปฏิบัติการฝนหลวงขณะนี้ค่อนข้างทำได้ยากลำบาก เพราะหลังการโปรยสารฝนหลวงไปแล้ว เมฆที่ก่อตัวก็จะลอยไปยังบริเวณเขาเขียว ด้วยปัญหาลมที่พัดแรงฝนจึงอาจตกไม่ตรงเป้าหมาย จึงได้ปรับปรุงวิธีการใหม่ด้วยการรอไปถึงช่วงปลายฤดูฝนที่ลมจะเปลี่ยนทิศ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้มีโอกาสที่จังหวัดชลบุรี จะได้รับน้ำฝนค่อนข้างมากในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ต้องใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” นายสุรพันธ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น