อุดรธานี - กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นผู้ค้าลอตเตอรี่ ประชาชนผู้ซื้อในอุดรธานีเผยผู้ค้าเสนอให้ค้าสลากฯ แบบเสรี พร้อมคงรางวัลแจ็กพอต หวังจูงใจชาวบ้านซื้อ ทั้งให้ทบทวนโควตาองค์กรการกุศลที่ได้โควตาหลักหมื่นเล่มแต่ไม่ค้าเอง แนะกองสลากกระจายให้ถึงรายย่อยโดยตรง
วันนี้ (23 ก.ค. 58) ที่ห้องประชุมบ้านผือ โรงแรมเซนทารา อ.เมือง จ.อุดรธานี ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วย พันโท หนุน ศันสนาคม กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการสลาก พร้อมคณะ เป็นประธานประชุมรับฟังความเห็นจากตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ ประชาชนผู้ซื้อ และสำรวจราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกี่ยวกับการจำหน่ายสลากฯ ตามราคาที่กำหนดในพื้นที่ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในพื้นที่ประมาณ 50 คนเข้าร่วมประชุม
ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคา เริ่มจากกำหนดให้ตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ตามราคา 80 บาทตามที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนต้องทำโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทนั้น ปรากฏว่าตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ศูนย์รับแจ้งข้อมูลข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์คอลเซ็นเตอร์ 0-2345-1466 พบว่ายังมีการขายสลากฯ เกินราคา จึงส่งชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว และทางคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมอบหมายให้ตน และพันโท หนุนลงพื้นที่รับฟังความรู้สึกและเก็บข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและประชาชนผู้ซื้อสลากฯ ในพื้นที่
เริ่มต้นจากภาคใต้พื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2558 และภาคกลางพื้นที่ จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยภาพรวมพื้นที่ต่างจังหวัดมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับตัวแทนจำหน่ายว่าควรเพิ่มปริมาณสลากกินแบ่งรัฐบาลให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงจึงจะสามารถแก้ปัญหาสลากฯ เกินราคาได้ โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวมารวบรวมวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการสลากกินแบ่งรัฐบาลตามแผน ROAD MAP ในระยะที่ 2 กำหนดทิศทางการจัดสรรสลากฯ เนื่องจากจะมีสลากฯ หมดสัญญาในเดือนธันวาคม 2558 นี้
นายบุญสุม คุ้มโคก อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99 บ้านผ่านศึก ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลใน จ.อุดรธานี กล่าวว่า ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมากว่า 35 ปี หลังจากรัฐบาล คสช.จัดระเบียบการจำหน่ายลอตเตอรี่ในราคา 80 บาท จำกัดโควตาให้ผู้ขายคนละ 5 เล่ม ราคาคู่ละ 70.40 บาท ผู้ขายได้กำไร 9.60 บาท แต่โดยรวมแล้วผู้ค้ารายย่อยได้กำไรน้อย เพราะหักค่าใช้จ่ายประจำวันวันละ 250 บาททำให้ผู้ขายอยู่ไม่ได้ แต่ต้องทนขายหวังว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงราคาต้นทุนสลากฯ ให้น้อยลง หรือให้ขายสลากฯ ราคาสูงกว่านี้ และให้คงรางวัลแจ็กพอตเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ซื้อ ผู้ขายรายย่อย หากผู้ค้ารายย่อยได้กำไรคู่ฉบับละ 15 บาท และควรได้โควตาคนละ 10 เล่มจึงจะสามารถอยู่ได้
อยากให้กองสลากทบทวนโควตาขององค์กรการกุศลที่ได้โควตาหลักหมื่นเล่ม เพราะองค์กรการกุศลไม่ได้จำหน่ายสลากฯ โดยตรง แต่นำสลากฯ ไปจำหน่ายให้รายย่อยอีกที จึงอยากให้สำนักงานสลากฯ นำสลากฯ ส่วนนี้ไปเฉลี่ยให้ผู้ค้ารายย่อยให้ได้คนละ 10 เล่ม ส่วนการแก้ปัญหายี่ปั๊ว คือให้ผู้ค้าสลากฯ สั่งสลากฯ โดยตรงได้ตามที่ต้องการแบบการค้าเสรี หากขายไม่หมดให้ผู้ขายรับผิดชอบเอง เพราะผู้ขายสามารถประเมินตัวเองได้ว่าแต่ละงวดจะจำหน่ายได้กี่เล่ม จะเป็นการตัดวงจรยี่ปั๊วไม่ให้เอาเปรียบรายย่อย ส่วนคนพิการเสนอว่าโควตา 5-10 เล่ม
ด้าน ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ดำเนินการตามโรดแมปของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลวางไว้ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 บังคับใช้กฎหมาย ทำให้ประชาชนเข้าถึงซื้อได้ในราคา 80 บาททั่วประเทศ ได้มาสำรวจและเยี่ยมเยียนผู้ค้าที่ จ.อุดรธานี เป็นจังหวัดที่ 3 ซึ่งผู้ค้าให้ความร่วมมือดี อยากขอร้องให้ประชาชนรักษาสิทธิ์ของตน แจ้งตำรวจจับผู้ค้าที่ขายเกินราคา
นอกจากนี้ ที่ได้ยินมาอีกคือ ราคาขายส่งจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว จำหน่ายให้ผู้ค้าปลีกมีราคาสูงขึ้น จากงวดแรกอยู่ที่ 72-73 บาท พองวดที่ 3-4 มาเป็น 77-78 บาท ทำให้กำไรเหลือเพียง 2-3 บาท กรรมการมาสอบถามความคิดเห็นว่าอยากให้สำนักงานสลากฯ ดูแลและปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 การบริหารและจัดการ จำหน่ายสลากฯ ในรูปแบบใหม่ เพราะสัญญาทุกสัญญาที่สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ได้ทำไว้ 70 กว่าล้านฉบับจะจบลงในเดือนธันวาคม 2558