xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์สนั่น! กรมศิลป์บูรณะ “วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน” อายุกว่า 400 ปีกลายเป็นวัดใหม่ใสกิ๊ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - นักวิชาการ นักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาทั่วภาคเหนือ วิจารณ์กันสนั่นเมือง สำนักศิลปากรที่ 7 กรมศิลป์บูรณะ “วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน” วัดเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี กลายเป็นวัดใหม่ใสกิ๊ก ไม่เหลือเค้าวัดเก่าวัดแก่ พบบริษัทเอกชนที่รับงานเป็นรายเดียวกับที่เคยทำพระธาตุลำปางหลวงเละจนด่ากันขรมมาแล้ว

วันนี้ (21 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้นักวิชาการ, นักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา ทั้งในลำปาง และจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ได้ออกมาตำหนิ พร้อมกับตั้งคำถามผ่านสังคมออนไลน์ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักศิลปากรที่ 7 จ.น่าน กรมศิลปากร ที่ร่วมกันบูรณะวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน ม.5 บ้านหลวงแจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง

หลังบูรณะทั้งวิหารหลวง พระธาตุ ที่เก่าแก่ของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน แล้วกลายเป็นวัดใหม่ ไม่หลงเหลือศิลปวัฒนธรรมของล้านนาที่เก่าแก่อายุกว่า 400 ปีอีกเลย โดยพระธาตุที่เคยแสดงถึงความเก่าแก่กลับกลายเป็นเหมือนพระธาตุใหม่ ทาองค์พระธาตุด้วยสีทองสดใส และฐานสีขาวใหม่ ส่วนวิหารหลวง ซึ่งเคยมีลักษณะที่บอกให้เห็นถึงความสวยงาม และความเก่าแก่ด้านวัฒนธรรมล้านนา ก็ถูกทาสีใหม่จนไม่เหลือความเก่าแก่ให้เห็น โดยเฉพาะลายไม้หน้าวิหารหลวงที่ถูกทาด้วยสีทอง และประดับด้วยกระจกจีนสีเขียว นับเป็นภาพที่ดูแปลกตาไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

เมื่อภาพของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนที่ได้รับการบูรณะจนกลายเป็นวัดใหม่ถูกแชร์ออกไป ทำให้บรรดานักวิชาการ และนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาทั่วภาคเหนือได้ออกมาตำหนิถึงการบูรณะที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทั้งๆ ที่วัดแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่ถูกจัดว่าเป็นโบราณสถานทางล้านนาที่เก่าแก่ และสวยงามในลำดับต้นๆ ของภาคเหนือ ที่สำคัญคือ วิหารหลวงแห่งนี้ยังเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามมาแล้ว แต่การบูรณะครั้งนี้ถือว่าได้ทำลายภาพความเก่าแก่ของโบราณสถานแห่งนี้ไป และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าแบบนี้กับโบราณสถานล้านนาในภาคเหนือแห่งใดอีก

ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้กรมศิลปากร หรือสำนักศิลปากรที่ 7 จ.น่าน ได้ชี้แจงถึงการดำเนินงานดังกล่าวว่าเป็นการบูรณะและอนุรักษ์ตามหลักอย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่ และการบูรณะดังกล่าวจะยังทำให้คงเหลือโบราณสถานที่เก่าแก่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนืออีกหรือไม่

สำหรับวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน หรือชื่อเดิมวัดป่าไผ่ สร้างขึ้นเมื่อปีตามปฏิทินล้านนา ปีสขาด 1250 ซึ่งตามประวัติศาสตร์ไม่ได้มีการระบุว่าใครเป็นผู้สร้าง และจากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ บอกเพียงว่าวัดนี้สร้างมาหลายร้อยปีแล้ว หรือกว่าพันปีที่เมืองลำปางแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมา ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 โดยโบราณสถานที่สำคัญที่ได้ทำการขึ้นทะเบียน ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ 1 องค์, อุโบสถ 1 หลัง และวิหาร 1 หลัง

ส่วนวิหารหลวงของวัดสร้างขึ้นด้วยการก่ออิฐถือปูนในอดีต ถือว่ามีความโดดเด่นด้านศิลปะ และวัฒนธรรมล้านนา โดยจะเป็นวิหารแบบล้านนาผสมพม่า บริเวณบันไดทางขึ้นวิหารจะมีประติมากรรมปูนปั้นรูปสัตว์ในนิยาย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานศิลปะเชียงแสน และธรรมาสน์ไม้สักที่เก่าแก่ ด้านหลังวิหารจะประดิษฐานเจดีย์ทรงระฆังคว่ำหุ้ม จึงนับว่าวัดแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่อายุกว่า 400 ปี และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ถึง 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2220 และปี พ.ศ. 2509 ครั้งนี้เป็นการบูรณะครั้งที่ 3

ทั้งนี้ มีรายงานว่าบริษัทเอกชนที่เข้าดำเนินการบูรณะเป็นบริษัทเดียวกับที่เคยเข้าบูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งทำผิดเพี้ยนไปจากเดิมจนถูกด่ากันทั้งเมือง และต้องเข้าไปทำการแก้ไขให้เหมือนเดิมมาแล้ว





กำลังโหลดความคิดเห็น