ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผอ.สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทยเปิดมุมมองผลกระทบ AEC กับภาคเหนือ เน้นภาคเอกชนกำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจให้ชัด ทั้งหาตลาดเกิดใหม่ภาคท่องเที่ยวต้องขายแบบ twin city ถึงจะรอด ด้านนักอุตสาหกรรมเชียงใหม่วอนภาครัฐ 3 กระทรวงหนุนท้องถิ่น
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMB THAI ) กล่าวในงานเสวนา “โอกาสและผลกระทบของ AEC ต่อเศรษฐกิจและพื้นที่ภาคเหนือ” เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ปัจจุบันอาเซียนเป็นเวทีเศรษฐกิจที่มีบทบาทโดดเด่นมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการรวมตัวกันเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในช่วงปลายปี 2558 รวมทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
แต่ในแง่ของการลงทุนแล้วทั่วโลกกำลังมองในกลุ่มคาบสมุทรอินโดจีน อันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar และ Vietnam) เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ที่มีระดับการเติบโตสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.5 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554-2556)
นอกจากนี้ สภาพภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ที่มีความคล้ายคลึงกัน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในประเทศ จำนวนประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวก็ล้วนส่งผลให้มีแรงงานที่เพียงพอ และการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน การที่ประเทศกลุ่มนี้เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้นและเป็นแหล่งแรงงานที่มีค่าจ้างไม่สูงมากนัก ทำให้เศรษฐกิจในประเทศ CLMV มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นและกำลังซื้อของประชากรเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้กลุ่มประเทศ CLMV จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่เองมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งอนาคตจะไม่สามารถขายจังหวัดเชียงใหม่เพียงจังหวัดเดียวได้ เมื่อเปิด AEC การทำตลาดต้องเน้นยุทธศาสตร์ในรูปของ twin city เช่น การทำตลาดจากเชียงใหม่-สปป.ลาว, เชียงใหม่-พม่า เป็นต้น
หรือการมองตลาดใหม่ๆ อย่างอินเดีย ยกตัวอย่างเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีชาวอินเดียเข้ามาจัดงานแต่งงานในเมืองไทย ซึ่งการแต่งงานแต่ละครั้งต้องอยู่เมืองไทยไม่ต่ำกว่า 3 วัน
ดร.อมรเทพกล่าวอีกว่า จากนี้ไป 3-5 ปีธุรกิจภาคบริการในเชียงใหม่มีโอกาสเติบโตสูงมาก เพราะมีความหลากหลายแต่จะเติบโตด้านไหนต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เท่าที่ผ่านมาเกือบครึ่งแรงงานของประเทศเราจะอยู่ที่ภาคการเกษตร ซึ่งภาคการเกษตรไม่มีผลที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพราะไม่มีโอที ไม่มีรายได้เสริมอย่างอื่น เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม คาดว่าในอนาคตจะมีการเคลื่อนย้ายภาคแรงงานกันจำนวนมาก ฉะนั้นต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมการเปิด AEC ไว้แล้ว โดยเฉพาะภาคเอกชนได้มีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะด้านลอจิสติกส์ การผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งการผลักดันให้มีการเปิดด่านการค้าชายแดนให้เป็นด่านถาวรเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายจักริน วังวิวัฒน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมของเชียงใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร รองลงมาเป็นสินค้าประเภทหัตถกรรม แต่ก็ล้วนเป็นอุตสาหกรรมไซส์ S แต่ก็เป็นตัวจักรสำคัญและมีความคล่องตัวสูงมาก ปัญหาสำคัญคือการขาดข้อมูลข่าวสารทำให้เสียเปรียบด้านการวางแผน การป้องกันธุรกิจของตนเอง
ฉะนั้น เมื่อมีการเปิด AEC โรงงานขนาดเล็กไม่สามารถเข้าไปแข่งขันได้จึงต้องมีการรวมตัวออกไปโรดโชว์กันเอง ไม่ต้องรอการพึ่งพาจากภาครัฐโดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจในการเข้าไปเปิดตลาดอย่างย่างกุ้ง และรัฐฉาน
นายจักรินกล่าวอีกว่า การเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมในเชียงใหม่จะต้องมาคุยกันต้องรวมกลุ่มกัน แล้วต้องมีพาร์ตเนอร์ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราจะไม่รู้เรื่องกฎหมายหรือกฎระเบียบทางการค้าของประเทศเพื่อนบ้านฉะนั้น ถ้ามีการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนหรือจับกลุ่มเข้าไปเปิดตลาดด้วยกันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
ความจริงแล้วในส่วนของภาครัฐเองถ้าจะเข้ามาช่วยหรือสนับสนุนภาคเอกชนควรจะเข้ามาช่วยพร้อมกัน 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตร, กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงพาณิชย์ ถึงจะช่วยเอกชนไทยบรรลุเป้าหมายเป็นรูปธรรม
“ปัญหาที่สำคัญขณะนี้ก็คือ ธุรกิจส่วนใหญ่ของคนเชียงใหม่เองเริ่มถดถอยลดน้อยลงไปเรื่อยๆ สาเหตุเป็นเพราะลูกหลานไม่ต้องการสืบสานธุรกิจดั้งเดิม หรือบางส่วนเป็นเพราะทุนจากต่างถิ่นจากส่วนกลางเข้ามาเบียดและบดขยี้จนทุนท้องถิ่นเดิมสู้ไม่ไหว” นายจักรินกล่าว