xs
xsm
sm
md
lg

“ลำปาง” เริ่มแล้ว ระดมคณะซอทั่วเมืองร่วมอนุรักษ์ “ขับซอ” ภูมิปัญญาล้านนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - วัฒนธรรมจังหวัดฯ นำทีมเปิดเวที ระดมคณะซอทั่วเมืองรวมตัวตั้งชมรม หวังใช้เป็นศูนย์รวมอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาการ “ขับซอ” ของล้านนาให้ยั่งยืนต่อไป

นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน “ซอ” ในจังหวัดลำปางเกือบ 30 คน ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง อ.เมืองลำปาง เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นในการจัดตั้งชมรมซอจังหวัดลำปางขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นายบพิตรกล่าวว่า หลังมีการจัดกิจกรรมการแสดง “ขับซอ...สืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ภายใต้โครงการมหกรรมการแสดงพื้นบ้าน เพื่อสร้างรายได้ให้ศิลปินท้องถิ่น โดยการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีคณะซอมาร่วมแสดงจำนวนมาก

แต่เมื่อสอบถามแล้วพบว่าต่างคนต่างแสดง ไม่ได้มีการรวมกลุ่ม และยังไม่มีการจัดตั้งชมรมเป็นศูนย์ประสานงาน และข้อมูลการติดต่อคณะซอ ตนจึงได้นัดประชุมเพื่อจัดตั้งชมรมซอลำปางขึ้น ซึ่งคณะซอทั้งหมดต่างเห็นพ้องด้วย เพราะจะช่วยสืบสาน อนุรักษ์ และถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาล้านนาให้แก่เยาวชนรุ่นต่อไปได้

ทั้งนี้ จากหลักฐานวรรณกรรม เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชี้ให้เห็นว่า “ซอ” เป็นการขับร้องประจำถิ่นล้านนา โดยเริ่มจากการขับร้องประจำเผ่าไทยลาว ไทยเมือง หรือไทยยวน ไทยลื้อ ซึ่งมีการขับร้องมาแต่เดิมที่ได้ประดิษฐ์ทำนองให้เข้ากับท้องถิ่นของตน ทำนองซอจึงมีชื่อของบ้านเมืองอยู่ด้วย เช่น ซอเชียงใหม่ ซอเงี้ยว ซอเชียงแสน เป็นต้น

การขับซอมีมาแต่สมัยโบราณ เป็นวัฒนธรรมล้านนาไทยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชาวล้านนาไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่ทำให้ชาวล้านนามีชีวิตมีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุขมาโดยตลอด

โดยมีการขับซอหลากหลาย เช่น 1. พิธีกรรมการเลี้ยงผี ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวเหนือในการอัญเชิญผีมารับเครื่องสังเวยเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยถ้อยคำสำนวนไพเราะร้องเรียกผีจนกว่าผีจะมารับเครื่องสังเวย จึงมีผู้คนจดจำบทอัญเชิญผีที่ไพเราะไปร้องเผยแพร่และพัฒนาเป็นบทร้องทำนองซอต่างๆ กลายเป็นการขับซอจนทุกวันนี้

2. ตำนานความรัก มีชายหนุ่มได้ยินเสียงหญิงสาวร้องร่ำพรรณนาถึงชีวิตและความรู้สึกของตน ด้วยเสียงและถ้อยคำที่คล้องจองไพเราะจับใจ ทำให้ชายหนุ่มหลงใหลและร้องโต้ตอบ ทักทายเกี้ยวพาราสีและปลอบใจหญิงสาว จนเกิดความรักและอยู่ครองรักกัน และร้องเผยแพร่จนกลายเป็นการขับซอจนถึงทุกวันนี้

3. พระพุทธศาสนา นำข้อธรรมะต่างๆ มาเขียนเป็นคำสอนด้วยถ้อยคำที่ไพเราะคล้องจองกันด้วยคำเมือง (ภาษาถิ่นเหนือ) มีเสียงสูงต่ำในท่วงทำนองไพเราะ สนุกสนาน ทำให้ไม่เบื่อหน่าย น่าติดตาม จึงมีผู้คนจดจำ นำไปร้องต่อและพัฒนาแปลงเป็นทำนองต่างๆ จนกลายเป็นการขับซอในปัจจุบัน



กำลังโหลดความคิดเห็น