หนองคาย - ประปาหนองคายเผยน้ำโขงเพียงพอเป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปา พร้อมได้รับงบประมาณ 400 ล้านบาทเพิ่มสถานีผลิตน้ำในปีหน้า ขณะที่อุดรธานีวางแผนตั้งสถานีผลิตน้ำที่หนองคายดึงน้ำโขงทำน้ำประปาส่งให้ชาวอุดรใช้ด้วย แก้ปัญหาภัยแล้งน้ำดิบไม่พอผลิตประปาให้ชาวอุดรธานี
วันนี้ (14 ก.ค.) เจ้าหน้าที่การประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย ได้เร่งทำการแก้ไขเปลี่ยนท่อเมนส่งน้ำดิบแบบใหม่แทนท่อเดิมที่หมดอายุการใช้งาน ทำให้เกิดปัญหาท่อแตกตั้งแต่ช่วงเช้า ส่งผลให้น้ำประปาในเขตเมืองหนองคายไม่ไหล โดยเจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขภายในเวลา 4 ชั่วโมง สามารถปล่อยน้ำสะอาดให้ประชาชนใช้ได้ตามปกติ
นายเรืองสุวรรณ โยวะ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย กล่าวว่า น้ำประปาที่หนองคายใช้น้ำจากแม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำดิบ ขณะนี้กำลังการผลิตนำน้ำดิบเข้าผ่านกระบวนการ 1,100 คิวต่อชั่วโมง เมื่อขั้นตอนสมบูรณ์แล้วจะเหลือน้ำประปาสะอาดประมาณ 700 คิวต่อชั่วโมง ให้บริการประชาชนในเขตรับผิดชอบ อ.เมืองหนองคาย, ต.สองห้อง, ต.พระธาตุบังพวน และ ต.ค่ายบกหวาน อ.เมืองหนองคาย รวมสถานที่ราชการ โรงงานต่างๆ ประมาณ 20,000 หลัง ตลอด 24 ชั่วโมง
แม้ว่าหลายแห่งจะเกิดปัญหาน้ำดิบขาดแคลน แต่ปริมาณน้ำโขงยังมีเพียงพอ ไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปาแต่อย่างใด จะมีอุปสรรคอยู่บ้างตรงที่กำลังการผลิตมีจำกัด และท่อแตก ทำให้การบริการอาจติดขัดบ้าง
โดยในปีงบประมาณ 2559 การประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย ได้รับงบประมาณ 400 ล้านบาท ทำการก่อสร้างสถานีผลิตน้ำประปาเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2,100 คิวต่อชั่วโมง จะทำให้การผลิตน้ำประปามีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถขยายพื้นที่ให้บริการไปจนถึง อ.สระใคร ที่กำลังจะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น 2 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้พื้นที่ จ.อุดรธานีได้รับผลกระทบจากสภาพความแห้งแล้ง ทำให้น้ำดิบในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งใช้ผลิตน้ำประปามีไม่เพียงพอ ทางการประปาอุดรธานีมีแผนที่จะสร้างสถานีผลิตน้ำประปาบริเวณบ้านปะโค อ.เมืองหนองคาย และอยู่ใกล้กับสถานีผลิตน้ำประปาแห่งใหม่ของหนองคาย เพื่อนำน้ำโขงมาผลิตน้ำประปาส่งตามท่อให้ชาวอุดรธานีได้ใช้น้ำประปาอย่างเพียงพอ
คาดว่าในส่วนของสถานีผลิตน้ำประปาของจังหวัดอุดรธานีนั้นจะของบประมาณดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2561
พร้อมกันนี้ ได้มีคณะเจ้าหน้าที่ประปาจากจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น จากการประสานงานของมูลนิธิไจก้า ได้มาดูขั้นตอนการผลิตน้ำประปาของสถานีผลิตน้ำหนองบัว จ.หนองคาย พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดำเนินการด้านวิชาการและเครื่องจักรกลแก่เจ้าหน้าที่การประปาหนองคายด้วย โดยจะไป 2 จังหวัด คือ หนองคาย และเชียงใหม่