ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิชาการอดีตรองคณบดีวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ชี้ชัดการออกแบบสร้างขยายสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกแม่โจ้ มูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท เป็นความคิดที่ผิดพลาด และไม่สอดคล้องต่อสภาพการใช้ชีวิตจริงของชุมชน ระบุหากเป็นงานออกแบบของนักศึกษาคงต้องให้คะแนนสอบตก เรียกร้องกรมทางหลวงเร่งพิจารณาปรับปรุงแก้ไขแบบโดยด่วน พร้อมเสนอนำนวัตกรรมใหม่มาใช้สร้างเป็นสะพานเชิงนิเวศวัฒนธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ จอมภักดี ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม (คอปส.) อดีตรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นถึงโครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 1001 (รวมสะพานข้ามแม่น้ำปิง) จังหวัดเชียงใหม่ หรืออุโมงค์ทางลอดแยกแม่โจ้ มูลค่าการก่อสร้างกว่า 1,100 ล้านบาท ของกรมทางหลวง ที่กำลังทำการก่อสร้างว่า เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมาก และสร้างความเดือดร้อนอย่างถาวรให้แก่ชุมชนในพื้นที่โครงการ ทั้งตำบลป่าตัน และตำบลฟ้าฮ่าม โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นผลมาจากการขยายสะพาน และถนนจากเดิม 4 ช่องทาง เป็น 10 ช่องทาง ซึ่งมองว่าเป็นการออกแบบที่ผิดพลาดอย่างมาก และไม่สอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริงในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในชุมชน
โดยระบุว่า ตามแบบก่อสร้างดังกล่าวทางคู่ขนานส่วนที่ไปเชื่อมต่อกับถนนป่าตัน และถนนฟ้าฮ่าม ซึ่งเป็นทางลอดคอสะพานเลียบแม่น้ำปิงของฝั่งตำบลป่าตัน และตำบลฟ้าฮ่าม จะถูกลดขนาดพื้นที่ลงจากเดิมที่กว้างข้างละประมาณ 22 เมตร เหลือเพียง 7 เมตร ซึ่งจะเป็นสภาพถนนที่เป็นคอขวดคับแคบมาก จนเกิดสภาพจราจรติดขัดรุนแรง ไม่ปลอดภัย และไม่เหมาะสมต่อการสัญจรของประชาชนในย่านดังกล่าวที่เป็นชุมชนหนาแน่น และมีความจำเป็นต้องพึ่งพาใช้ประโยชน์ถนนทางขนานที่มีอยู่เป็นเส้นทางสำคัญในชีวิตประจำวัน โดยที่ยังไม่นับรวมไปถึงการใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา ได้มีการทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวงแล้ว เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาทบทวน และปรับปรุงแบบให้มีความเหมาะสม โดยเสนอขอให้มีทางเท้าขนาดกว้าง 3 เมตร ทางจักรยานขนาดกว้าง 2 เมตร ถนน 2 ช่องทางจราจรขนาดกว้าง 7 เมตร และให้มีพื้นที่ไหล่ทางพร้อมพื้นที่สีเขียวตามความเหมาะสม ขณะเดียวกัน ให้ปรับถนนส่วนที่จะสร้างยกระดับเพื่อข้ามแม่น้ำปิงตามแบบก่อสร้างเดิมที่เป็น 10 ช่องทาง เหลือ 6-8 ช่องทาง เพื่อให้ถนนทางขนานสำหรับชุมชนมีขนาดความกว้างเหมาะสมตามที่ประชาชนในชุมชนต้องการ
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ทางหลวงหมายเลข 11 หรือถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ในปัจจุบันมีสภาพเป็นถนนในเมืองแล้วโดยปริยาย ฉะนั้นเห็นควรว่าจำเป็นจะต้องมีการกำหนดความเร็วให้ช้าเพื่อความปลอดภัย และการออกแบบสิ่งก่อสร้างใดๆ ควรจะต้องคำนึงถึงบริบทต่างๆ ของเมือง และเน้นการเป็นทางหลวงสีเขียวที่จะอำนวยประโยชน์ต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในเมืองให้มากที่สุด
โดยเมื่อกรมทางหลวง มีงบประมาณในการก่อสร้างแล้ว และเป็นเงินที่มีมูลค่าสูงมาก ดังนั้น ก็ควรจะทำให้เงินภาษีประชาชนที่นำมาใช้ก่อสร้างให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้เสียภาษีด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ย้ำด้วยว่า กรมทางหลวงควรที่จะมีการนำนวัตกรรมการสร้างสะพานที่สวยงาม และเพิ่มคุณค่าในการใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมิติ ทั้งด้านจราจร เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกลมกลืนด้วยการออกแบบเป็นกรณีพิเศษในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นสะพานนิเวศวัฒนธรรม ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ทั้งด้านธรรมชาติที่สวยงาม และวัฒนธรรม
ตลอดจนสามารถมีจุดพักผ่อนหย่อนใจ และชมวิวบนสะพานด้วย จนอาจจะเป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) อีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ในอนาคตก็ได้ ซึ่งเบื้องต้น แม้ว่าทางกรมทางหลวงจะยังไม่มีการตอบรับข้อเสนอใดๆ แต่โดยส่วนตัว พร้อมด้วยภาคประชาชน และชุมชนในพื้นที่โครงการยืนยันว่าจะมีการขับเคลื่อนเรียกร้องในประเด็นนี้จนถึงที่สุด
“การออกแบบก่อสร้างขยายสะพานข้ามแม่น้ำปิงตามโครงการนี้ เป็นการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงสภาพการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในชุมชนที่เป็นอยู่จริงเลย ซึ่งหากคนที่ออกแบบเป็นลูกศิษย์ผม และงานออกแบบชิ้นนี้เป็นงานที่ต้องเอามาส่งเพื่อให้คะแนน หรือสอบ ผมคงต้องให้คะแนนสอบตก เพราะเปรียบเทียบแล้วคงเหมือนกับว่าให้โจทย์ไปออกแบบตะปูที่สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม แล้วกลับออกแบบตะปูที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้วมาส่ง ซึ่งในแง่การใช้งานจริงไม่มีความเหมาะสม หรือมีประสิทธิภาพ แค่คิดก็สอบตกแล้ว” อดีตรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว