ลำปาง - ทีมนักสำรวจซากดึกดำบรรพ์เปิดเวทีเสวนา-เผยแพร่หลักฐานการค้นพบมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุ 500,000-1 ล้านปี แห่งเดียวในประเทศไทยที่ลำปาง เป็นแห่งที่ 3 ของเอเชีย รอรวบรวมข้อมูลเพิ่มก่อนเสนอเป็นมรดกโลก
วันนี้ (10 ก.ค.) นายสมหมาย เตชาล ผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรธรณี ได้เป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการและเผยแพร่ความรู้เรื่องมนุษย์ลำปาง (มนุษย์เกาะคา) หลักฐานซากดึกดำบรรพ์มนุษย์ก่อนยุคโบราณคดี ที่ห้องประชุมอาคารพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติ จ.ลำปาง มีนักวิชาการจากหลากหลายแห่งทั่วประเทศ, ทีมงานสำรวจ, ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษย์วิทยาโบราณ และคณะผู้วิจัยจากศิริราชพยาบาล, นักเรียน-นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 100 คน
เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำผลการศึกษาค้นคว้า วิจัย มานำเสนอพร้อมรับฟังคำแนะนำ ตลอดจนถึงแนวทางการบริหารจัดการ ส่งเสริม อนุรักษ์ และพัฒนาอนุรักษ์แหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้เป็นมรดกของลูกหลานและของประเทศชาติ รวมถึงเผยแพร่เรื่องราวที่ค้นพบออกไปสู่สากลให้ได้รับทราบด้วย
นายสมศักดิ์ ประมาณกิจ อดีตนักสำรวจประจำพิพิธภัณฑ์เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาทำการสำรวจและอยู่ในพื้นที่ที่บ้านหาดปู่ด้าย ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นเวลานานถึง 30 ปี ระบุว่า ได้ค้นพบชิ้นส่วนกระโหลกมนุษย์ส่วนหน้าเหนือกระบอกตา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบัน มีอายุ 500,000-1,000,000 ปี ซึ่งถือเป็นหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ หรือก่อนยุคโบราณคดี เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และแห่งที่ 3 ของเอเซีย
นายสมศักดิ์ บอกว่า เดิมเคยมีนักสำรวจจากต่างประเทศเข้ามาค้นหากว่า 100 ปี แล้วไม่พบ แต่ตนเองค้นพบในเวลาเพียง 30 ปี ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกของโลกที่ค้นพบหลักฐานที่สำคัญชิ้นนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประเทศชาติ และคนลำปางอย่างมากแล้ว ยังจะมีประโยชน์ในด้านการศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์อีกด้วย
ขณะที่นายสมหมาย เตชาล ผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า สิ่งที่นายสมศักดิ์ ค้นพบและทีมงานของศิริราชพยาบาล ได้ร่วมกันทำการวิจัยค้นคว้าต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะซากดึกดำบรรพ์ที่พบสามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในอดีต รวมถึงสามารถบอกเล่าเรื่องสภาพแวดล้อม สภาพภูมิกากาศในยุคต่างๆ ได้
นายสมหมาย บอกว่า ประเทศไทยเคยค้นพบซากดึกดำบรรพ์มากมายหลายประเภทตั้งแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์มีกระดูกสันหลัง ซากพืชหลากหลายชนิด และร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ แต่ที่จังหวัดลำปางถือได้ว่าเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
โดยที่ผ่านมาเคยพบซากดึกดำบรรพ์ที่แม่เมาะ อาทิ หอยขม, ตะพาบน้ำ, ปลา, ช้าง 4 งา สกุลสเตโกโลโฟดอน-กอมโฟเธอเรียม และซากดึกดำบรรพ์ทาร์เซียสิรินธร ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาธิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในการตั้งชื่อ
จนกระทั่งมาค้นพบซากดึกดำบรรพ์โฮโม อิเรคตัส บรรพบุรุษมนุษย์ที่เก่าแก่ และพบเป็นครั้งแรกของประเทศไทยจากดอยท่าก้า บ้านหาดปู่ด้าย อ.เกาะคา ถือว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อมนุษยชาติ เพราะสามารถเล่าเรื่องราวตั้งแต่การกำนิดมนุษย์ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม ค้นคว้า วิจัยในบางเรื่อง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุดก่อนที่จะนำเสนอขอเป็นมรดกโลกต่อไป