เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ณ บริเวณแอ่งดึกดำบรรพ์ ในมณฑลเหอเป่ย ทางภาคเหนือของจีน นักโบราณคดีผู้ช่ำชองประสบการณ์ได้พบก้อนหินเล็ก ๆ อยู่มากมาย จากผลการตรวจสอบทำให้เขาเชื่อมั่นว่า มันจะต้องเป็นของเล่นของเด็กในอดีตกาลทิ้งไว้ และสถานที่ที่พบก้อนหินเหล่านี้ก็คือสนามเด็กเล่นเมื่อเกือบ 2 ล้านปีก่อนนั่นเอง !
ศาสตราจารย์เว่ย ฉี นักมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ( CAS) และหัวหน้าคณะนักโบราณคดีในโครงการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขตเฮยถูโกวในแอ่งหนีเหอวัน อำเภอหยังหยวน คือผู้ตั้งสมมุติฐานนี้
“ เขตเฮยถูโกวนะครับ เป็นขุมทรัพย์ ซึ่งอาจมีเบาะแส ที่เป็นประโยชน์บางอย่างในการตอบคำถามสำคัญ ๆ หลายข้อ ว่ากันตั้งแต่โครงสร้างสังคมของโฮมินิดส์ยุคแรก ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ว่า พวกนี้ได้อพยพจากทวีปแอฟริกามายังเอเชียหรือไม่ หรือมาเมื่อใด และอย่างไร” เขาอธิบาย
“สนามเด็กเล่น” แห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ดูเหมือนว่า เคยมีการใช้พื้นที่กันอย่างคึกคัก โดยภายในบริเวณกว้างไม่ถึง 6 ตารางเมตร นักโบราณคดีพบก้อนหินกว่า 700 ก้อน และเศษก้อนหินอีกเกือบ 20,000 ชิ้น อายุระหว่าง 1 ล้าน 7 แสน 7 หมื่นปี - 1 ล้าน 9 แสน 5 หมื่นปี
ศาสตราจารย์เว่ยสันนิษฐานว่า มันเป็นสิ่งที่เกิดจากฝีมือของสิ่งมีชีวิตในวงศ์โฮมินิดส์ ( hominids) ซึ่งเป็นสายพันธุ์บรรพบุรุษของมนุษย์ยุคแรก ๆ ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นของเล่นสำหรับเด็ก ๆ ครั้งกระโน้น
ที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้น ศาสตราจารย์ ซึ่งปลดเกษียณแล้ว และใช้เวลาส่วนใหญ่ง่วนอยู่กับการศึกษาหลักฐานในเขตเฮยถูกโกวผู้นี้เชื่อว่า มันทำขึ้นด้วยมือของเด็ก ๆ และพวกผู้หญิง
ก้อนหินเหล่านี้กว่าร้อยละ 80 มีขนาดเล็ก โดยมีความยาวระหว่าง 20-50 มิลลิเมตร และส่วนใหญ่ไม่มีร่องรอยการสึกกร่อนจากการใช้งานเลย
ก้อนหินชิ้นหนึ่งคือ HTG 268 จับใจศาสตราจารย์เว่ยเป็นพิเศษ เขาเชื่อถึงขนาดที่ว่า มันอาจเป็นของเล่น หรือของขวัญ ที่แม่คนหนึ่งทำให้กับลูกของตนด้วยซ้ำไป
“ คุณอาจสัมผัสได้ถึงความรักอย่างดูดดื่มของผู้ทำ ซึ่งฝังอยู่ในของชิ้นนี้” เขากล่าว
“ มันทำขึ้นอย่างประณีตและรูปทรงสวยงามมาก คุณภาพอาจทัดเทียมกับสิ่งประเดิษฐ์ทำด้วยหินในยุคต่อต่อมา ที่เจริญกว่านี้”
นักโบราณคดียังพบหลักฐานอื่น ๆ ที่ประกอบการยืนยันว่า สถานที่แห่งนี้กาลครั้งหนึ่งเคยเป็นสนามเด็กเล่น มิใช่บริเวณที่อยู่อาศัย หรือบริเวณทำงาน อีกทั้งมิใช่ถิ่นอาศัยของสัตว์ เพราะไม่พบซากฟอสซิลของสัตว์มากมายในบริเวณนี้
เขตเฮยถูโกวถูกค้นพบเมื่อราวปีพ.ศ. 2545 โดยจากการคำนวณอายุของหินในบริเวณแห่งนี้ด้วยวิธีการศึกษาสนามแม่เหล็กโลกในยุคดึกดำบรรพ์ ( magnetostratigraphy) ทำให้ทราบว่า เขตเฮยถูโกวมีอายุเก่าแก่กว่าเขตดมานิซี ( Dmanisi site) ในสาธารณรัฐจอร์เจีย ซึ่งจัดเป็นถิ่นอาศัยยุคแรกสุดของโฮโมนิดส์นอกทวีปแอฟริกา
แอ่งหนีเหอวันในปัจจุบันมีภูมิประเทศเป็นโตรกเขาสูงชัน ทว่าในยุคบรรพกาลเคยเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่ ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นถิ่นอาศัยของโฮโมนิดส์ยุคแรก นอกจากนั้น เมื่อศตวรรษที่แล้ว นักโบราณคดีได้พบหลักฐานถิ่นอาศัยของโฮโมนิดส์ยุคแรก ๆ หลายแห่งในบริเวณนี้อีกด้วย
พวกแม่และเด็ก ๆ อาจรู้สึกว่า ริมทะเลสาบมีความปลอดภัย จึงมานั่งเล่น และประดิษฐ์ของเล่นจากก้อนหินขึ้นมา โดยซากฟอสซิลของสัตว์ ซึ่งพบน้อยมากในเขตเฮยถูโกวก็ล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์ ที่กินพืช เช่น ช้าง และแรด
ทว่าการค้นพบและจินตนาการของศาสตราจารย์เว่ยอาจใม่ใช่เรื่องจริง
สมมุติฐานของเขาถูกนาย เกา ซิง นักโบราณคดีแห่งสถาบันซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสัตว์วิทยาของ CAS ( CAS Institute of Vertebrate Paleontology) โต้แย้ง โดยชี้ว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือก้อนหินเหล่านี้ทำจากมือคนจริงน่ะหรือ
“ ยากจะปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่า มันก็เป็นแค่เศษก้อนหิน ที่เกิดจากพลังตามธรรมชาติ ก้อนหินเหล่านี้มีอายุเก่าแก่ดึกดำบรรพ์เกินไป การจะบ่งชี้ว่ามันเป็นของที่ทำขึ้นจากมือมนุษย์อาจเป็นสิ่งที่ไปไกลเกินกว่าขอบเขตของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ที่จะพิสูจน์ได้ ” นายเกา ซึ่งเคยไปชมเขตเฮยถูโกวมาแล้วให้เหตุผล
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เว่ยยังคงมั่นใจว่า ก้อนหินเหล่านี้ทำจากมือมนุษย์ พร้อมกับตอกกลับไปว่า แต่ถ้าไม่ใช่แล้ว ก้อนหินส่วนใหญ่ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้ก็จะต้องเข้าข่ายถุกสงสัยด้วยอย่างแน่นอน