xs
xsm
sm
md
lg

รง.ปลาร้าดังเมืองน้ำดำไม่หวั่นภัยแล้ง แนะผู้ประกอบการยึดพอเพียงเน้นคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอุทร ภูสัตคำ เจ้าของโรงงานแม่หม่อมปลาร้าแซ่บนัว โรงงานทำปลาร้าชื่อดังของจ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - เจ้าของโรงงานปลาร้าชื่อดังเมืองกาฬสินธุ์ แนะผู้ผลิตอย่าตื่นแล้งกระทบการผลิตของโรงงานปลาร้า เหตุปลาหายาก-ราคาสูง ให้ยึดหลักพอเพียง ทำปลาร้าคุณภาพ และเป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมควบคุมต้นทุน เชื่อปลาร้าไม่มีวันขาดตลาด

ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ถึงแม้จะมีฝนตกเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาทำให้นาข้าวและพืชไร่เกษตรเกิดความชุ่มชื้นในหลายพื้นที่ แต่ปัญหาภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่ออาชีพอื่น โดยเฉพาะโรงงานปลาร้าหลายแห่ง ที่ต้องกว้านซื้อปลาดิบ บางรายถึงขั้นนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา ทำให้ราคาต้นทุนปลาร้าสูงขึ้น จากการสำรวจโรงงานปลาร้าแม่หม่อมในเขต ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ปัญหาภัยแล้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงาน

นางอุทร ภูสัตคำ เจ้าของโรงงานแม่หม่อมปลาร้าแซ่บนัว กล่าวว่า ภัยแล้งในปีนี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ที่นี่ไม่ใช้ปลาจากเขมร เนื่องจากรสชาติและคุณภาพยังไม่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า เพราะปลาน้ำจืดกับปลาน้ำกร่อยเมื่อทำเป็นปลาร้าแตกต่างกันมาก สู้ปลาจากน้ำจืดไม่ได้ ซึ่งทางโรงงานจะใช้ปลาจากทุ่งกุลาร้องไห้ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และอีกแห่งคือจากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นปลาหนังที่มีคุณภาพ ทำปลาร้าแล้วลูกค้าพอใจมาก

การผลิตและตลาดของปลาร้าโรงงานแม่หม่อมนั้น เพียงพอกับลูกค้าประจำ ลูกค้ารายใหม่ และลูกค้าขาจรที่สั่งปลาร้าไปบริโภคจากทั่วประเทศ ทั้งนี้โรงงานจะจำหน่ายเฉพาะปลาร้าที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ไม่ทำปลาร้า 3 เดือน 6 เดือนแล้วต้มขาย เพราะไม่ได้คุณภาพไม่มีสิ่งเจือปนอื่นๆ ขณะนี้ปลาร้าเมื่อ 5 -6 ปีก็ยังมีไว้จำหน่าย ส่วนปลาร้าปีนี้ที่ทำไว้อาจจะได้ขาย 2-3 ปีข้างหน้า สินค้าทุกอย่างทดแทนกันได้ ทำให้โรงงานไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งนัก

“โรงงานทำปลาร้าแบบตัวแบ่งขายเป็นกิโลกรัม ปลาร้าบอง และน้ำปลาร้าต้มสุก ที่บรรจุในขวดอย่างดี โรงงานมีสต๊อกเพียงพอกับออเดอร์อีกหลายปี หากมองว่าต้องสั่งออเดอร์วัตถุดิบมาจากประเทศเขมรนั้น เป็นอีกทางเลือกของผู้ประกอบการโรงงานปลาร้าที่เร่งทำยอดส่งออก แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ รสชาติ ซึ่งปลาร้าจากปลาเขมรและปลาไทยแตกต่างกันมาก โดยโรงงานแห่งนี้จะไม่ใช้ปลาเขมร เพราะทำแล้วเนื้อปลา กลิ่น และรสชาติไม่ถูกปากลูกค้า” นางอุทร กล่าวและว่า

อยากให้ผู้ประกอบการโรงงานปลาร้าด้วยกัน หันมายึดหลักพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ต้องตื่นตระหนกกับปัญหาภัยแล้ง ถ้ากว้านซื้อปลาหน้านี้ต้นทุนก็สูงขึ้น อยากให้คิดว่าวัตถุดิบเท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น เชื่อว่าทุกโรงงานต้องมีสต๊อกปลาร้า ปีนี้ทำได้เท่านี้ปีหน้าอาจจะทำเยอะขึ้นทดแทนไป ตามกลไกของตลาด หากฝืนเอาวัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ จะทำให้สินค้าของโรงงานเสียมาตรฐานไปด้วย แต่เชื่อว่าปลาร้าไม่ขาดตลาดแน่นอน

สำหรับพื้นที่ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ถือเป็นแหล่งผลิตปลาร้าแหล่งใหญ่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้ประกอบการรายย่อยถึงรายใหญ่กว่า 100 ราย ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่ทำปลาร้ามาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนปัจจุบัน ทั้งยังมีพัฒนาการการผลิตให้ได้มาตรฐาน จากการควบคุมของหน่วยงานราชการต่างๆ เป็นสินค้าโอทอปอีกรายการ ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกาฬสินธุ์



กำลังโหลดความคิดเห็น