บุรีรัมย์ - ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์เรียกประชุมด่วนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 40 หน่วยงาน เร่งหาแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง พร้อมตั้งวอร์รูมรับมือวิกฤตภัยแล้งเชิงรุก ล่าสุดพื้นที่การเกษตรกระทบแล้งกว่า 1.9 ล้านไร่ แห้งตายเสียหายสิ้นเชิงแล้วเกือบ 6 พันไร่
วันนี้ (7 ก.ค. 58) นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการน้ำมากกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง หลังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ได้ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางมีสภาพตื้นเขินแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในหลายอำเภอขาดน้ำหล่อเลี้ยงยืนต้นตาย และประชาชนเริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
ที่ประชุมมีมติจัดตั้งวอร์รูม หรือห้องปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรหมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่อยู่ประจำวอร์รูมดังกล่าวเพื่อคอยรับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งจากผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และเกษตรกร โดยภายหลังได้รับแจ้งว่าพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลใดประสบปัญหาแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค หรือพื้นที่การเกษตรเสียหายก็จะเร่งรวบรวมข้อมูลเสนอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาสั่งการหรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ อย่างเร่งด่วนต่อไป
นายอาคม พิญญศักดิ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดตั้งวอร์รูมหรือห้องปฏิบัติการแก้ปัญหาภัยแล้งครั้งนี้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการประสานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ เพราะขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งค่อนข้างรุนแรงกว่าทุกปี เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตภัยแล้งหรือภาวะฝนทิ้งช่วงที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างดังกล่าวด้วย
ด้านนายวันชัย ทิพย์อักษร เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายงานพื้นที่การเกษตร ทั้งนาข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อย ที่เพาะปลูกในพื้นที่ทั้ง 23 อำเภอ เนื้อที่กว่า 3,582,000 ไร่ ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงขาดน้ำหล่อเลี้ยงมากถึง 1,971,490 ไร่ ประชาชนได้รับผลกระทบ 172,654 ครัวเรือน ในจำนวนนี้ประสบปัญหาขาดน้ำแห้งตายเสียหายสิ้นเชิงไปแล้ว 5,960 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 584 ครัวเรือน กว่าร้อยละ 90 ที่เสียหายจะเป็นนาข้าว
คาดว่าหากฝนไม่ตกลงมาหล่อเลี้ยงภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้ พื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวจะทยอยยืนต้นแห้งตายเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้น จากกรณีดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล เร่งลงพื้นที่สำรวจพื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากภัยแล้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากภาวะฝนทิ้งช่วง เพื่อเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วนต่อไป