เชียงราย - เจ้ากรมกิจการชายแดนทหารยกคณะตามติดความคืบหน้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเมืองพ่อขุนฯ ล่าสุดใกล้ลงตัวแล้ว ขณะที่คณะทำงานฯ เตรียมแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุดใหญ่ ทั้งรถไฟรางคู่ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง สถานีขนส่ง รวมถึงมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย แต่ยังเจอปัญหากลไกการบริหารไร้ระเบียบรองรับ
วันนี้ (7 ก.ค.) พล.ท.บุญชู เกิดโชค เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นประธานในการประชุมกองอำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (กอ.นชท.) สัญจร ครั้งที่ 2 ปี 58 ที่ห้องเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินน์ อ.เมืองเชียงราย
โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านลาว-พม่า จ.เชียงราย นำคณะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกิจการชายแดนด้าน จ.เชียงราย เข้าร่วม
พล.ท.บุญชูกล่าวว่า การประชุม กอ.นชท.สัญจร ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกดำเนินการไปแล้วที่ จ.ตาก ในฐานะพื้นที่จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฟส 1 ซึ่งที่ประชุมจะเน้นการหารือเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่บริบทของพื้นที่ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ทาง กอ.นชท.จึงต้องมารับทราบปัญหาและแนะแนวเรื่องการประสานงานกับหน่วยงานจากส่วนกลางที่จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ด้านนายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้มีประกาศ กนพ.ฉบับที่ 1 และ 2/2558 กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 10 พื้นที่
โดยในส่วนของ จ.เชียงรายได้กำหนดให้พื้นที่ 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจฯ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.เป็นต้นมานั้น ที่ผ่านมา จ.เชียงรายได้ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ, ตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (0SS) และจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำร่างแผนแม่บทแล้ว
ล่าสุดจนถึง 30 มิ.ย.ได้กำหนดให้พื้นที่ อ.แม่สายเป็นตลาดชายแดนไทย-พม่า และเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า หรือ Trading City, อ.เชียงแสน เป็นเมืองท่าเรือสู่ประเทศจีน และการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ หรือ Port City และ อ.เชียงของ เป็นประตูการค้าสู่ประเทศจีน และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว หรือ Logistic City
พร้อมกันนั้น คณะทำงานฯ ได้สรุปเลือกพื้นที่เหมาะสมใน 3 อำเภอแล้ว คือ อ.แม่สาย 1,646 ไร่ 1 งาน 78 ตารางวา อ.เชียงแสน 4,547 ไร่ 2 งาน 99 ตารางวา และ อ.เชียงของ 4,390 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา กำหนดให้มีกิจการเพื่อการลงทุน 10 กิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร, ประมงและกิจการที่เกี่ยวข้อง, อุตสหากรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง, อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือน, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, การผลิตเครื่องมือแพทย์, การผลิตพลาสติก, การผลิตยา, กิจการลอจิสติกส์, นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนมากมายโดยเฉพาะการจัดทำผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะชุมชนชายแดน โครงข่ายถนนทางหลวงเชื่อมอำเภอชายแดน ปรับปรุงด่านพรมแดน ศูนย์ราชการ ฯลฯ
ส่วนระยะต่อไป เป็นการเตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงของพื้นที่ 462 ไร่ ที่ ต.สถาน อ.เชียงของ ปัจจุบันการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เชิญบริษัทเมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เอกชนที่สนใจให้เข้าไปลงทุน โครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร งบประมาณ 77,000 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาความเห็นชอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับทำรถไฟรางคู่ขนาด 1.435 เมตร
ขณะเดียวกัน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาเส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 655 กิโลเมตร มูลค่า 348,890 ล้านบาท วิ่งด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำหนดศึกษาแล้วเสร็จปลายปี 2558 นี้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของ พื้นที่ 280 ไร่ ใกล้สะพานแม่น้ำโขงเชื่อมไทย-สปป.ลาว มูลค่า 2,244 ล้านบาท ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาตรวจสอบการเวนคืนที่ดินและพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2557, โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างหาพื้นที่ที่เหมาะสมประมาณ 50-100 ไร่, โครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา
สำหรับปัญหาที่ทางจังหวัดนำเสนอต่อที่ประชุมมีหลายประการ ได้แก่ กลไกการบริหารงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ยังไม่ชัดเจน โดยมีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รองรับเพียงฉบับเดียว, การขับเคลื่อน OSS ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่, มีปัญหาราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นทั้ง 3 อำเภอ เพราะมีการเก็งกำไร, ปัญหาเรื่องผังเมืองรวม เพราะกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จ.เชียงราย ปี 2556 แล้ว แต่สภาพปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา เป็นต้น