กาฬสินธุ์ - ชลประทานจังหวัดกาฬสินธุ์ ของบ 30 ล้านบาท ฟื้นฟู “อ่างเก็บน้ำห้วยจาน” หนึ่งในอ่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คาดปี 59 จะได้รับการจัดสรรจากกรมชลประทาน
นายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ปัญหาอ่างเก็บน้ำห้วยจานแห้งขอด ได้รายงานไปยังอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งนำแผนฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำห้วยจาน โดยจะสนับสนุนงบประมาณรวม 30 ล้านบาท เข้ามาฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำแบบบูรณาการด้วยการขุดลอกอ่างให้มีสภาพดีดังเดิม
ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยจาน เป็นอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2523 ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2524 เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งให้แก่ประชาชน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งได้รับการผันน้ำจากห้วยแข้ เขตเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร
ความแห้งแล้งเกิดจากสภาพตื้นเขิน และที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้แก้ไขและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีพื้นที่กว้าง สามารถรองรับน้ำ 250,000 ลูกบาศก์เมตร จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณ ขณะนี้ได้นำเสนอเข้าแผนในปี 2559 เป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนทันทีเมื่อเข้าสู่ปีงบประมาณ
ด้าน นายไพโรจน์ จิตจักร นายอำเภอนาคู กล่าวว่า ผลกระทบภัยแล้งในพื้นที่อำเภอนาคู 5 ตำบล 85 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 30,000 คน ได้รับผลกระทบมาก จากปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยนายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ประกาศเป็นเขตพิบัติภัยแล้ง ส่วนการบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ปัญหาระยะยาวนั้นได้ประสานทั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองท้องถิ่น นำน้ำสะอาดแจกจ่าย และประสานกรมชลประทานและกองทัพบก เพื่อขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยจาน
หากในเดือนนี้ฝนไม่ตกลงมา จะขอคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ประกาศเป็นเขตพิบัติแล้งครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก พืชผลการเกษตรแห้งตาย และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
ด้าน นายธนศักดิ์ เหลาแหลม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งปีนี้รุนแรงอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน ความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนน้ำ ต้นข้าวเริ่มตายลง ที่ผ่านมา อบต.บ่อแก้วได้ประสานขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง เช่น เทศบาลตำบลนาคู นำน้ำมาแจกจ่าย โดยแจกจ่ายไปแล้วประมาณ 120,000 ลิตร แต่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความเดือดร้อนหนักขึ้นหากฝนทิ้งช่วง จึงขอเรียกร้องรัฐบาล และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือด้วย
สำหรับปัญหาความแห้งแล้งโดยรวมพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ เขตชลประทาน เป็นการบริหารจัดการของเขื่อนลำปาว จะยังคงส่งน้ำให้แก่ประชาชนได้อีก 60 วันนับจากนี้ ส่วนพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 18 แห่ง ในความรับผิดชอบของชลประทานคงเหลือน้ำเพียงร้อยละ 20 จึงขอให้ประชาชนงดเพาะปลูก และควรหาภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในอนาคต เพราะอาจเกิดฝนทิ้งช่วงใน 2 เดือนข้างหน้า