นครสวรรค์/สุโขทัย - ระดับน้ำปิงเขต 3 อำเภอ ของเมืองปากน้ำโพยังลดต่อเนื่อง กระทบนาข้าว สวนผัก และระบบประปา เผยท้องนาแตกระแหง ชาวนาต้องลงทุนจ้างเจาะบาดาลกันเองแล้ว ขณะที่คลอง สระน้ำเมืองสุโขทัย แห้งขอดแบบไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน
วันนี้ (4 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่น้ำปิง ที่เป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน อ.บรรพตพิสัย อ.เก้าเลี้ยว และ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ขณะนี้ระดับน้ำลดต่ำมาก จนกระทบต่อการเกษตร และระบบประปาแล้ว โดยนาข้าวที่หมู่ 4 บ้านห้วยโรง ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย ซึ่งชาวนาที่นี่เริ่มปลูกข้าวตามฤดูกาลเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ล่าสุด ข้าวบางส่วนเริ่มแห้งตาย ดินในแปลงนาแตกระแหง
นางจอง โสทะ หนึ่งในชาวนาบ้านห้วยโรง บอกว่า ต้องจ้างผู้รับเหมามาขุดเจาะน้ำบาดาล หวังเติมน้ำในสวนผัก และแปลงนา ซึ่งการขุดเจาะน้ำบาดาลครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้รับเหมาต้องขับรถอีแต๊กไปขนน้ำจากที่อื่นมาปล่อยเป็นเชื้อในการขุดบาดาล เพระระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกมาก การเจาะน้ำบาดาลจึงใช้เวลาเกือบทั้งวัน
ขณะที่ผู้รับเหมาบอกว่า ช่วงนี้มีงานขุดเจาะน้ำบาดาลทุกวัน เนื่องจากเครื่องมือของหน่วยงานราชการมีไม่เพียงพอ ชาวบ้านรอไม่ไหวก็ว่าจ้างให้ตนขุดเจาะให้ โดยใช้เครื่องมือแบบเก่า ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในการขุดเจาะ ราคาก็คิด 4,500 บาทต่อบ่อ
ด้าน นายวิศาล วสุนธาราพร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ว่า อยู่ในช่วงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมเตือนเกษตรกรไม่ให้ปลูกข้าวในช่วงนี้ ให้ชะลอไปก่อนเพื่อรอฝนเติมน้ำในเขื่อน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า จังหวัดนครสวรรค์ มีการปลูกข้าวไปแล้วกว่าแสนไร่ ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขต ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่สนามบินเกษตรนครสวรรค์ ขึ้นบินโปรยสารทำฝนเทียมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตภาคเหนือเป็นประจำทุกวัน
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ก็รุนแรงขยายวงไม่ต่างกัน โดยเฉพาะที่หมู่ 10 ต.บ้านกล้วย อ.เมือง เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีกำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก หลังคลองลาวต้นเกลือ และคลองนาทุ่ง รวมทั้งสระน้ำที่ชาวนาขุดเอาไว้มีสภาพแห้งขอด ไม่เหลือน้ำกักเก็บ ทำให้นาข้าวที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือน ไปจนถึงข้าวที่กำลังตั้งท้อง และออกรวงรวมกว่า 500 ไร่ กำลังยืนต้นเหี่ยวแห้งตายเพราะขาดน้ำ
ชาวนาในพื้นที่ ระบุว่า ตั้งแต่ทำนามานานหลายสิบปีไม่เคยเจอสภาพแห้งแล้งแบบนี้มาก่อน ตอนนี้แหล่งน้ำในพื้นที่แห้งขอดจนเห็นดินแตกระแหงหมดแล้ว และความเสียหายก็ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นด้วย