xs
xsm
sm
md
lg

สันติบาลตามสอบ 16 อาจารย์ มน. ลงชื่อเรียกร้องปล่อย 14 นศ.ดาวดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ตำรวจสันติบาลตามตรวจสอบ 16 อาจารย์ มน. หลังร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาดาวดิน ขณะที่คณาจารย์ยันทำเพราะเป็นห่วงลูกศิษย์ ชี้ไม่ควรจำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิด เตือนระวังเรื่องเล็กอาจลุกลามเป็นเรื่องใหญ่

วันนี้ (2 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อตรวจสอบคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ร่วมลงชื่อแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา 14 คนที่กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธาน ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัย

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่ามีอาจารย์ทั้งหมด 16 คน ประกอบด้วย นายยอดพล เทพสิทธา น.ส.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ น.ส.ฐานิดา บุญวรรโณ น.ส.ฐิติชญาน์ ศรแก้ว นายวศินรัฐ นวลศิริ นายวัชรพล พุทธรักษา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ นายสถิตย์ ลีลาถาวรชัย นายฐิติรัตน์ สุวรรณสม อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์

นายนิธิ เนื่องจำนง น.ส.นภิสา ไวฑูรเกียรติ นายวัชรพล ศุภจักรวัฒนา นายวิเชียร อินทะสี นางศศิธร จันทโรทัย น.ส.สุวนันท์ อินมณี นายอาทิตย์ พงษ์พานิช และ น.ส.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ ไม่ได้ระบุว่าสังกัดคณะไหน

ซึ่งจากการตรวจสอบทั้ง 16 คนมีตัวตน และทำงานเป็นอาจารย์อยู่ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร บางรายเป็นระดับผู้บริหาร แต่สามารถเชิญตัวมาสอบถามทำความเข้าใจกรณีมีชื่อปรากฏในแถลงการณ์เรียกร้องได้เพียง 6 คน เนื่องจากอาจารย์บางคนติดการสอบ บางรายติดภารกิจ และไปราชการต่างจังหวัด

จากการสอบถาม อาจารย์ส่วนใหญ่เดินทางเข้าไปลงชื่อที่กรุงเทพมหานครโดยไม่ได้นัดหมาย ทุกคนมีความคิดเป็นอิสระ การเดินทางเข้าไปเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนนั้น ทุกคนต่างต้องการแสดงความห่วงใยนักศึกษาในฐานะอาจารย์ที่เป็นห่วงศิษย์ และเห็นว่านักศึกษาควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ไม่น่าจะเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องคุมขัง จึงต้องการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดออกมา

อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลกได้กล่าวถึงเหตุผลที่ลงชื่อว่า ต้องการแสดงความห่วงใยต่อนักศึกษากลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็น มีสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ เพราะในอดีตที่ผ่านมามีการแสดงออกทางความคิดที่หนักและรุนแรงมากกว่านี้ ยังไม่มีการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือจับกุมคุมขังเข้าคุกอย่างเช่นที่นักศึกษากลุ่มนี้ จึงไม่เห็นด้วยต่อการกระทำดังกล่าว

เพราะหากมีการควบคุมหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพเกรงว่าเรื่องเล็กอาจลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ รัฐควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม อย่าเลือกฟังเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ควรร่วมกันหาทางออกจากทุกๆ กลุ่มอย่างเท่าเทียมเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวยืนยันว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายสนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้ก้าวล่วงเข้าไปจำกัดในสิทธิส่วนบุคคล เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดได้

กำลังโหลดความคิดเห็น