ศูนย์ข่าวศรีราชา - สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ศรีราชา โชว์ความสำเร็จผสมเทียมเสือลายเมฆ ที่เกิดจากการนำน้ำเชื้อเข้ารังไข่เป็นครั้งแรกของโลก จนได้ลูกเสือลายเมฆ 2 ตัว จากฝีมือนักวิจัยไทย และอเมริกัน ตามโครงการความร่วมมืออนุรักษ์เสือลายเมฆ
วันนี้ (2 ก.ค.) สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี แถลงข่าวความสำเร็จในการผสมเทียมเสือลายเมฆเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ อาคารศูนย์อนุรักษ์ โดยมี นายเบญจพล นาคประเสริฐ์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานการแถลงข่าว และมี ดร.สุริยา แสงพงศ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว มร.เคน แลง ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงเสือลายเมฆ รศ.สพญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์วิจัย หัวหน้าทีมการผสมเทียมเสือลายเมฆ ร่วมแถลง
นายเบญจพล เผยถึงความสำเร็จในการผสมเทียมเสือลายเมฆครั้งนี้ว่า นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยที่สามารถผสมเทียมลูกเสือลายเมฆได้ถึง 2 ตัว และถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้การผสมเทียมด้วยการนำน้ำเชื้อเขารังไข่ได้สำเร็จ หลังมีความพยายามในการนำวิธีการผสมเทียมเข้าช่วยจัดการด้านการเพาะขยายพันธุ์ประชากรเสือลายเมฆในประเทศไทย โดยนักวิจัยไทยและอเมริกัน ตามโครงการความร่วมมือในการอนุรักษ์เสือลายเมฆในประเทศไทย ร่วมกับภาคี(Thailand Clouded Leopard Consortium) ประกอบด้วย องค์การสวนสัตว์ ร่วมกับหน่วยงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ สถาบันสมิธโซเนียน สวนสัตว์แนชวิลล์ และสวนสัตว์พอยท์ เดอ ไฟแอนส์ รวมถึงคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้ร่วม และผู้สนับสนุนวิจัยในโครงการนี้จนประสบความสำเร็จ
“ที่ผ่านมาเรามีการทำวิจัยในโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทีมผสมเทียมเสือลายเมฆที่เรามีเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลกแล้ว ซึ่งในส่วนของการปฏิบัติการเรามีเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์จากหลายชาติ โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกันมานาน และขณะนี้เรายังต้องการได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือทางการศึกษา และทุนวิจัย โดยพบว่า มีทีมวิจัยจากหลายชาติสนใจเรื่องการผสมพันธุ์เสือลายเมฆให้ประสบความสำเร็จ และเราจะใช้สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นศูนย์ในการศึกษาและวิจัยเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับใช้ต่อยอดต่อไป”
ด้าน ดร.บริพัตร กล่าวว่า เสือลายเมฆเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของไทยและของโลก ซึ่งจะมีการกระจายตัวอยู่เฉพาะในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น จัดเป็นสัตว์ที่มีองค์ความรู้ด้านชีววิทยาค่อนข้างน้อย และอาจกล่าวได้ว่า เสือลายเมฆเป็นสัตว์ที่มีความท้าทาย และยากที่สุดในการจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อเพาะขยายพันธุ์ในสถานที่เพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ตอบสนองต่อความเครียดได้ง่าย รวมถึงการที่เสือลายเมฆตัวผู้ สามารถทำร้ายเพศเมียจนตายจากการกัดด้วยเขี้ยวที่แหลมคม และทรงพลัง ทำให้การผสมพันธุ์เสือลายเมฆสำเร็จได้ยาก
ขณะที่โครงการอนุรักษ์เสือลายเมฆ ร่วมกับภาคีได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพในการเพาะขยายพันธุ์เสือลายเมฆนอกถิ่นอาศัย โครงการนี้ดำเนินการมากว่า 13 ปี แต่ก็ยังพบว่า ยังมีประชากรเสือบางกลุ่มที่ไม่สามารถจับคู่ผสมพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ และเกิดปัญหาสัตว์ขาดคู่จากปัจจัยหลายประการ รวมถึงพฤติกรรมความดุร้ายของตัวผู้ ที่ทำร้ายคู่จนได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือตาย พฤติกรรมฝังใจของเพศเมียที่ถูกทำร้ายในช่วงการผสมพันธุ์ ทำให้ไม่ยอมรับการจับคู่ หรือการผสมจากตัวผู้ตามธรรมชาติ จนต้องมีการนำเทคโนโลยีช่วยการสืบพันธุ์ที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการเพาะขยายพันธุ์ด้วยการผสมเทียม
โดยที่ผ่านมา โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีช่วยการสืบพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และคงความหลากหลายทางพันธุกรรมในเสือลายเมฆ” ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และได้รับสนับสนุนงบประมาณการวิจัยบางส่วนจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ในการศึกษาวิจัยเพื่อนำเทคโนโลยีการผสมเทียม ที่ได้รับการพัฒนาและประสบความสำเร็จในกลุ่มสัตว์ตระกูลแมวมาประยุกต์ใช้ในเสือลายเมฆ ได้เริ่มทดลองผสมเทียมมาแล้ว 2 ครั้ง ระหว่างปี 2557-2558
โดยครั้งแรกทำเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 ในเสือลายเมฆของสวนสัตว์เชียงใหม่ 1 ตัว ด้วยการฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่ปีกมดลูก ด้วยเทคนิคการส่องผ่านกล้อง เช่นเดียวกับวิธีที่ประสบความสำเร็จ แต่ทำการผสมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็ง การทดลองครั้งนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ
และล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ได้ทำการทดลองผสมเทียมครั้งที่ 2 ในเสือเพศเมีย 1 ตัวของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งพบการตกไข่ข้างละ 2 ใบ รวม 4 ใบ โดยการทดลองครั้งนี้คณะวิจัยได้ใช้วิธีการผสมเทียมด้วยการปล่อยน้ำเชื้อเข้าบริเวณท่อนำไข่ จนได้ลูกเสือคลอดจากแม่ที่ได้รับการผสมเทียมจำนวน 2 ตัว เป็นเพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 1 ตัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยพบว่า มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีทั้งคู่