xs
xsm
sm
md
lg

เผยจับแม่แพนด้า “หลินฮุ่ย” ผสมเทียมแล้ว รอลุ้น 60 วันรู้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผอ.องค์การสวนสัตว์นำทีมโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย จับแม่แพนด้า “หลินฮุ่ย” ผสมเทียมแล้วตั้งแต่คืนวันที่ 21 มิ.ย. ใช้น้ำเชื้อจากพ่อ “ช่วงช่วง” รอลุ้นผลอีก 60 วัน เบื้องต้นกำหนดอัลตราซาวนด์ตรวจละเอียด 21 ส.ค.นี้



วันนี้ (15 ก.ค. 58) ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และนายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หัวหน้าคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการตรวจสุขภาพและผสมพันธุ์หมีแพนด้า “ช่วงช่วง” ตัวผู้ และ “หลินฮุ่ย” ตัวเมียของสวนสัตว์เชียงใหม่

ทั้งนี้ ทางทีมงานสัตวแพทย์และคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยได้ทำการผสมเทียม “หลินฮุ่ย” แล้วเมื่อคืนวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยการใช้น้ำเชื้อรีดสดของ “ช่วงช่วง” โดยการผสมพันธุ์ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเฝ้าติดตามพฤติกรรมของ “หลินฮุ่ย” อย่างต่อนื่อง และพบว่า “หลินฮุ่ย” เริ่มมีการแสดงพฤติกรรมเป็นสัดตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. แต่ยังไม่ชัดเจน จึงทำการเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อตรวจฮอร์โมนจนยืนยันได้ว่า “หลินฮุ่ย” เป็นสัดตามธรรมชาติ และน่าจะตกไข่ในวันที่ 21 มิ.ย.

ขณะที่การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากจีน ได้รับคำแนะนำว่าให้มีการเปิดโอกาสให้ “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” ได้พบกันในช่วงก่อนที่จะถึงวันตกไข่เพื่อสังเกตพฤติกรรมของหมีแพนด้าทั้งคู่ว่ามีการแสดงปฏิกิริยาระหว่างกันอย่างไร ทั้งนี้ ในวันที่ 21 มิ.ย. ซึ่ง “หลินฮุ่ย” ตกไข่ในช่วงเช้า พบว่ายังคงมีอาการปฏิเสธ “ช่วงช่วง” แม้ว่าช่วงบ่ายจะยอมรับมากขึ้น แต่ก็ไม่มีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติเกิดขึ้น ทำให้ทีมงานทำการผสมเทียมในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น.ของวันที่ 21 มิ.ย. ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา ที่ให้ผสมเทียมทันทีหลังพบการตกไข่ 20 ชั่วโมง โดยการผสมเทียมใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

หัวหน้าคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยเปิดเผยว่า การผสมเทียมในครั้งนี้ผ่านไปอย่างเรียบร้อยทุกขั้นตอน โดยทำการผสมเพียงครั้งเดียว ด้วยน้ำเชื้อรีดสดจาก “ช่วงช่วง” ที่มีคุณภาพดี ทั้งนี้ ต้องรอเวลาประมาณ 60 วันหลังการผสมเทียมจึงจะรู้ผลว่าการผสมเทียมครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นวางแผนที่จะทำการอัลตราซาวนด์ตรวจการตั้งท้องและสุขภาพของ “หลินฮุ่ย” อย่างละเอียดครั้งแรกในวันที่ 21 ส.ค.

รวมทั้งมีแผนที่จะทำการตรวจอย่างต่อเนื่องเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยยังคงมีความหวังอย่างเต็มที่ว่าจะประสบความสำเร็จจนได้ลูกหมีแพนด้าตัวใหม่





กำลังโหลดความคิดเห็น