xs
xsm
sm
md
lg

ระกำจริง! เศรษฐกิจสุดฝืด-คนบางระกำหมดทางออก แม้แต่ครกยังต้องจำนำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ชาวบ้านบางระกำสุดช้ำ เจอภัยแล้งไม่พอ เศรษฐกิจฝืดเคือง แห่นำทองเข้าโรงจำนำ 2 เดือนเกือบร้อยล้าน รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตรก็ต้องจำนำ ไม้เว้นแม้แต่พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เรือน ยัน “ครกหิน” ยังขนเข้าโรงตึ๊ง

วันนี้ (2 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ายอดผู้ใช้บริการสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำ นับเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงสภาพเศรษฐกิจแต่ละท้องถิ่นได้ดีที่สุดเช่นกัน ซึ่งขณะนี้พบว่าชาวบ้าน “บางระกำ จ.พิษณุโลก” นอกจากจะประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ แล้ว ยังเจอปัญหาสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองด้วย

โดยที่สถานธนานุบาลเทศบาลตำบลบางระกำมีประชาชนนำทองคำมาจำนำในช่วง 2 เดือนมานี้มากกว่า 90 ล้านบาท นอกจากนี้ยังขนเครื่องมือการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ อีกจำนวนมากมาจำนำ ล่าสุดเงินสำรองที่สถานธนานุบาลเตรียมไว้ถูกนำมาใช้จนหมดทั้ง 95 ล้านบาท และต้องเตรียมสำรองเงินเพิ่มเพื่อรองรับเกษตรกรที่จะเข้ามาใช้บริการ

นายสุนทร เพิ่มพูล ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลตำบลบางระกำ เปิดเผยว่า บางระกำเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรจำนวนมาก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้เป็นรอบๆ จากการทำการเกษตร ช่วงที่ประชาชนขัดสนก็จะนำทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือทรัพย์สินมีค่ามาจำนำไว้กับสถานธนานุบาลเทศบาลตำบลบางระกำ

โดยแต่ละปีที่ผ่านมาจะมีประชาชนมาใช้บริการเฉลี่ยเดือนละไม่กี่ล้านบาท แต่เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับในปีนี้มีประชาชนนำทรัพย์มาจำนำเพิ่มมากขึ้น จนวงเงินที่เตรียมไว้ 95 ล้านบาทไม่เพียงพอ ขณะนี้ได้ขยายวงเงินเพิ่มขึ้นอีกกว่า 500,000 บาท

นายสุนทรกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานทำให้ประชาชนขาดรายได้ในช่วงนี้ จนถึงขั้นต้องนำพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว จำนวน 4 องค์ ซึ่งเก็บสะสมไว้ออกมาจำนำองค์ละ 800 บาท ที่แย่ที่สุดก็คือมีประชาชนเป็นหญิงวัยกลางคนในเขตเทศบาลตำบลบางระกำนำครกหิน จำนวน 2 ลูก มาจำนำไว้ 400 บาท นานถึง 8 เดือนแล้ว โดยจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน เดือนละ 2 บาท บอกว่าจะนำไปจ่ายค่าน้ำ เราก็รับจำนำไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขัดสน

“เฉพาะในช่วง 1-2 เดือนนี้มีเกษตรกรมาใช้บริการมากขึ้น คาดว่าเกษตรกรจะนำไปลงทุนทำนาปี หรือลงทุนปลูกพืชอายุสั้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งมาก เกษตรกรที่จะทำนาต้องลงทุนมากขึ้นเพื่อดึงน้ำบาดาลขึ้นมาทำนาก่อนระหว่างที่รอฝนตกตามฤดูกาล”

สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่สถานธนานุบาลฯ คิดจากลูกค้าคือ วงเงินไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์ แต่หากวงเงินมากกว่า 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท




กำลังโหลดความคิดเห็น