xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาอ่างทองดิ้นสู้ภัยแล้งหันปลูกอ้อย ถั่วฝักยาว จับนกหนูไปขายหารายได้เลี้ยงปากท้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - ชาวนาอ่างทอง สู้ชีวิตดิ้นหนีภัยแล้งที่คุกคามอย่างหนักจนไม่มีน้ำทำนา บางรายหันไปปลูกอ้อย และถั่วฝักยาว พืชที่ใช้น้ำน้อยในแปลงนานำไปขายหายรายได้แทน ขณะที่บางรายฉวยโอกาสช่วงภัยแล้ง ทั้งนก และหนูขาดแคลนอาหารเข้ามากัดกินข้าวในแปลงนา ใช้ตาข่ายดักจับไปขายสร้างรายได้

วันนี้ (1 ก.ค.) นางประกอบ ดิษฐ์สุวรรณ อายุ 48 ปี อาชีพชาวนา อยู่บ้านเลขที่ 46/2 หมู่ 4 ตำบลบ้านพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ครอบคัวตนทำนากว่า 10 ไร่ เมื่อประสบปัญหาภัยแล้งช้ำซาก และลุกลามฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชลประทานชะลอการจ่ายน้ำ ปลูกข้าวไม่ได้เนื่องจากไม่มีน้ำต้องยึดระยะเวลาในการทำนาออกไป ตนจึงหยุดการทำนาหันหันมาปลูกอ้อย และถั่วฝักยาว ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แทน

“โดยได้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกอ้อย และปลูกถั่วฝักยาวประมาณ 2 ไร่ เนื่องจากถั่วฝักยาวนั้นโตไวใช้น้ำน้อย และการเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้เวลาเพียง 55 วัน ก็มีรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้ว ชาวนาไม่มีเงินเดือนประจำ ต้องดินรนต่อสู้หารายได้เนื่องจากจะรอการทำนาเพียงอย่างเดียวนั้นในช่วงนี้ก็ขาดรายได้ แต่รายจ่ายมีทุกวัน และต้องรออีกหลายเดือนกว่าจะได้ลงมือปลูกข้าวทำนา และเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขาย และขาดรายได้จึงได้ปรึกษากับครอบครัวหยุดการทำนา แล้วหันมาลงทุนในการปลูกอ้อย และถั่วฝักยาวเพื่อสร้างราย และความอยู่รอดของชาวนาในช่วงหน้าแล้ง ได้หาเงินเลี้ยงครอบครัวต่อไป” นางประกอบ กล่าว

ด้าน นายพินิจ ศรีโสภา อายุ 42 ปี ชาวนาหมู่ 2 ตำบลบางจักร อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ตนทำนา จำนวน 17 ไร่ ช่วงนี้ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง นอกจากจะประสบปัญหาภัยแล้งขาดน้ำแล้ว ยังประสบปัญหาหนู และนกชุกชุมบุกกัดกินต้นข้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการดักหนู และนกไปขายสร้างรายได้ นำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวชดเชยนาข้าวที่เสียหายได้เป็นบางส่วน

นายพินิจ กล่าวว่า หลังประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำ มีชาวนาจำนวนมากหยุดการทำนา ปล่อยนาร้าง ทำให้นก หนูชุกชุม จึงใช้ไม้ไผ่ทำบ่วงจับหนู และย่างขายได้วันละ 1-2 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ 80-120 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนนกนานาชนิดที่ยกฝูงลงจิกกินข้าวในแปลงนานั้นตอนแรกได้ใช้ประทัดลูกกล้องจุดไล่นกที่เข้ามาจิกกินข้าวในแปลงนา เสียค่าพลุ และประทัดวันละกว่า 100 บาท ภายหลังใช้ตาข่ายดักปลามาดักจับนก ขายได้คู่ละ 30-40 บาทเป็นการลดต้นทุนในการใช้ประทัด และยังมีรายได้เล็กน้อย แต่ถึงอย่างไรก็ไม่คุ้มต่อต้นทุนที่ข้าวต้องเสียไปกว่าครึ่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น